รหัสนัยของ “แบคทีเรียในน้ำลาย” กับการฆ่าตัวตาย

แบคทีเรียในน้ำลาย
Share

 

รหัสนัยของ “แบคทีเรียในน้ำลาย” กับการฆ่าตัวตาย

 

วงการแพทย์และนักวิจัยในสหสาขาปัจจุบันพยายามถอดรหัสเพื่อไขความซับซ้อนเกี่ยวกับการทำงานของไมโครไบโอม (microbiome) จุลินทรีย์ตัวน้อยๆ หรือที่เรียกว่า ‘ชุมชนนิเวศของจุลชีพ’ ความที่ในร่างกายคนเราประกอบไปด้วยเซลล์มนุษย์เพียง 43% ที่เหลือเป็นจุลินทรีย์ ซึ่งมีทั้งแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา อาศัยอยู่ภายในและบนร่างกายของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น โครงการไมโครไบโอมของมนุษย์ (Human Microbiome Project) ที่เพิ่งปิดโครงการไป โดยมีเป้าหมายสำคัญที่การดูแลรักษาสุขภาพแบบใหม่ที่พึ่งพายาให้น้อยที่สุด

ล่าสุด มีการเปิดเผยงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Scientific Reports เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าด้วยแบคทีเรียในน้ำลายที่อาจมีนัยยะสำคัญที่สัมพันธ์กับความคิดฆ่าตัวตายในมนุษย์ โดยเก็บตัวอย่างน้ำลายจากนักศึกษาปริญญาตรีจำนวน 489 คน ในภาควิชาจุลชีววิทยาและเซลล์ มหาวิทยาลัยฟลอริดา

รายงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรปริญญาเอกในวิทยาลัยเกษตรและวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต มหาวิทยาลัยฟลอริดา โดยมีที่มาจากข้อเท็จจริงที่ว่าปัจจุบันภาวะซึมเศร้าและความคิดฆ่าตัวตายกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในหมู่ผู้ใหญ่วัยเรียนไปแล้ว จากการศึกษาในปี 2020 โดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) พบว่าเฉพาะภายในเดือนที่ผ่านมา หนึ่งในสี่ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 24 ปีคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย

แองเจลิกา อาห์เรนส์ (Angelica Ahrens) นักวิจัยดุษฎีบัณฑิตแผนกจุลชีววิทยาและวิทยาศาสตร์เซลล์ มหาวิทยาลัยดังกล่าว หนึ่งในทีมนักวิจัยให้รายละเอียดเกี่ยวกับเกณฑ์การคัดสรรอาสาสมัครว่า นักศึกษาจะต้องตอบแบบสอบถามที่ใช้ประเมินภาวะอาการซึมเศร้า รวมทั้งมีการสอบถามว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขามีความคิดฆ่าตัวตายหรือไม่ ซึ่งผู้ที่ตอบว่า ‘เคย’ จะถูกส่งไปยังฝ่ายบริการทางสุขภาพจิตของมหาวิทยาลัย เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม

ปรากฏว่า เมื่อควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต เช่น อาหาร, การนอนหลับ ฯลฯ นักวิจัยพบว่าน้ำลายของนักศึกษาที่มีความคิดฆ่าตัวตาย มีแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคเหงือกอักเสบและการติดเชื้ออื่นๆ มากกว่าผู้ที่ตอบว่าไม่เคยมีความคิดฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ยังพบว่า มีแบคทีเรีย Alloprevotella rava ที่ผลิตสารประกอบที่ส่งเสริมการทำงานของสมองต่ำกว่า อีกทั้งนักศึกษากลุ่มนี้ก็ยังมีความแปรผันของลักษณะทางพันธุกรรมร่วมกัน ซึ่งนักวิจัยพบว่า อาจส่งผลต่อการมีอยู่ของ Alloprevotella rava ในปากด้วย

อาห์เรนส์ บอกว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับเธออย่างมาก เนื่องจากเป็นข้อบ่งชี้สำคัญให้จับตามองแบคทีเรียชนิดนี้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เธอยังหวังว่างานวิจัยแนวนี้จะช่วยคาดการณ์ความคิดฆ่าตัวตายจากการใช้ไมโครไบโอม หรือเหล่าจุลินทรีย์ตามธรรมชาติในร่างกายมนุษย์ได้ และอาจเป็นข้อมูลเพื่อการรักษาด้วยโพรไบโอติก (จุลินทรีย์ชนิดดี) หรือพรีไบโอติก (อาหารของจุลินทรีย์เหล่านั้น) แก่ผู้ที่มีความเสี่ยง

ทุกวันนี้ยังคงมีการต่อยอดงานวิจัยดังกล่าวไปอีก โดยการเก็บน้ำลายตัวอย่างนั้นที่ในเบื้องต้นนักศึกษาต้องมาที่ห้องปฏิบัติการด้วยตนเอง ปัจจุบันผู้เข้าร่วมสามารถเลือกที่จะส่งตัวอย่างน้ำลายทางไปรษณีย์โดยใช้ชุดเก็บรวบรวมที่พัฒนาโดยนักวิจัย ซึ่งนับเป็นวิธีการนี้สะดวกมากสำหรับนักศึกษาและยังช่วยให้ผู้วิจัยสร้างชุดข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งยังสามารถทดสอบตัวแปรต่างๆ ได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น การตรวจไมโครไบโอมในน้ำลายของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าและกำลังใช้ยาแก้ซึมเศร้า เป็นต้น

อาเรนส์ บอกว่า ในขณะที่การรักษาต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตสามารถช่วยผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ แต่ก็ยังมีอีกมากที่ต้องเรียนรู้ว่าไมโครไบโอมของมนุษย์ส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างไร และสามารถนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นได้

สอดรับกับการรณรงค์การป้องกันการฆ่าตัวตาย ซึ่งสมาคมระหว่างประเทศเพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตาย (IASP) รับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้มีการจัดงานขึ้นทุกปี ถือเอาวันที่ 10 กันยายนเป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) มุ่งเน้นให้ลดการตีตรา และสร้างความตระหนักรู้ระหว่างองค์กร รัฐบาล และสาธารณชน โดยยกเป็นวาระสำคัญด้านสาธารณสุขของโลก โดยหัวข้อในการรณรงค์ปีนี้ (ปี 2564 – 2566) “Creating Hope Through Action” (การสร้างความหวังด้วยการกระทำ) เป็นส่งสัญญาณให้ผู้ที่ประสบกับความคิดฆ่าตัวตายว่ายังมีความหวัง และเราทุกคนสามารถส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหา เข้าถึงผู้คนที่กำลังเผชิญกับความทุกข์นั้น และแบ่งปันประสบการณ์ของเรา เราทุกคนสามารถสร้างความหวังผ่านการกระทำและเป็นแสงสว่างได้.

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles