สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อยู่ทุกที่รอบตัว ที่กำลังถูกปลุกให้กลับมาทำร้ายมนุษย์ จากเงื่อนไขของ Climate change
กล่าวกันว่าหลังจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อผ่านทางอากาศผ่านไป โลกจะเปลี่ยนผ่านสู่ทศวรรษใหม่ของโรคระบาดที่แพร่กระจายผ่านทางน้ำ
ไม่ใช่เรื่องที่พูดกันเล่นๆ แต่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ความที่ประชากรโลกมีจำนวนมากขึ้น อยู่กับอย่างกระจุกตัวหนาแน่น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกที่สูงขึ้น เช่นเมื่อวันชาติสหรัฐอเมริกา 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยสูงที่สุดในรอบ 1 แสนปี สิ่งที่ส่งผลกระทบนอกจากระบบนิเวศน์ ยังมีผลต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค
Microbe ที่ตื่นจากหลับ
ภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นเอื้อต่อการเจริญเติบโตของบรรดาเชื้อโรค ขณะเดียวกันก็พบว่ามีโรคติดต่อเกิดขึ้นมากมาย ทั้งโรคที่เราไม่เคยรู้จัก และโรคที่เราไม่ได้พบเจอมานานกระทั่งคาดกันว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว กลับระบาดขึ้นใหม่ เช่น โรคแอนแทร็กซ์ และกาฬโรค เป็นต้น
โดยนักวิทยาศาสตร์พุ่งเป้าความสนใจไปที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เป็นผลให้แผ่นน้ำแข็งและชั้นดินเยือกแข็งในเขตขั้วโลกละลาย ส่งผลให้บรรดาจุลชีพทั้งหลายที่เคยถูกแช่แข็งหรือจำศีลอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งมานานนับพันปีกลับฟื้นคืนชีพขึ้นอีกครั้ง และเป็นที่มาของการเกิดระบาดครั้งใหม่
เช่นเมื่อปี 2559 กรณีที่พบเด็กชายวัย 12 ปีผู้หนึ่งซึ่งอยู่ที่คาบสมุทรยามาล เขตไซบีเรียน เสียชีวิตลงด้วยโรคแอนแทร็กซ์ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีประชากรในละแวกใกล้เคียงอย่างน้อย 20 คนที่ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลจากสาเหตุเดียวกัน คาดกันว่าคลื่นความร้อนที่เข้าโจมตีเขตอาร์กติกในฤดูร้อนของปีนั้นทำให้ชั้นดินเยือกแข็งซึ่งปกติจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียสตลอดทั้งปี เกิดละลายจนซากกวางเรนเดียร์ที่ตายด้วยโรคแอนแทร็กซ์เมื่อ 75 ปีก่อน ซึ่งถูกฝังอยู่ใต้ดิน ออกมาสัมผัสกับอากาศภายนอกและแหล่งน้ำ
ล่าสุด เมื่อกลางปีที่แล้ว สำนักข่าว บีบีซี ไทย รายงานโดยอ้างงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Biotechnology ว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์จีนศึกษาตัวอย่างน้ำแข็งจากธารน้ำแข็ง 21 แห่งในที่ราบสูงทิเบต พบจุลินทรีย์ หรือจุลชีพที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนกว่า 900 ชนิดอาศัยอยู่ในธารน้ำแข็งแถบที่ราบสูงทิเบต
พบว่า จุลินทรีย์ 968 ชนิดพันธุ์ฝังตัวอยู่ในธารน้ำแข็ง ส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรีย และที่น่าประหลาดใจคือ ราว 98% ของจุลินทรีย์ที่พบนั้นเป็นชนิดใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยรู้จักมาก่อน บางชนิดมีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดโรคระบาดใหญ่ครั้งใหม่
ดร. ฌอง-มิเชล คลาเวรี นักชีววิทยาวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยเอกซ์-มาร์แซลล์ ประเทศฝรั่งเศส บอกว่า ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวนั้นเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับการจำศีลเป็นเวลานานของเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เนื่องจากเป็นที่มืดมิดแสงส่องไม่ถึง มีความเย็นยะเยือกและไม่มีอ็อกซิเจน ทำให้เชื้อร้ายที่อยู่ในซากศพของมนุษย์และสัตว์ซึ่งกลบฝังไว้ตื้นๆ เมื่อในอดีต สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานนับร้อยนับพันปี หรือในบางครั้งอาจเป็นหลายล้านปี
เช่นการพบเชื้อไข้หวัดสเปนที่มีการระบาดครั้งใหญ่ในปี 2461 ในหลุมฝังศพหมู่ในเขตทุนดราของอลาสกา และคาดว่ามีเชื้อกาฬโรค รวมทั้งเชื้อโรคอีกหลายชนิดที่แพร่ระบาดในศตวรรษที่ 18-19 อยู่ใต้ชั้นดินเยือกแข็งของไซบีเรียด้วย
การ “ฟื้นคืนชีพ” ของ Microbe หรือเชื้อเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก โดยเมื่อปี 2548 นักวิทยาศาสตร์ของนาซาพบเชื้อแบคทีเรีย Carnobacterium pleistocenium ซึ่งอยู่ในบ่อน้ำแข็งของอลาสกามานานกว่า 32,000 ปี หรือตั้งแต่ยุคที่ช้างแมมมอธยังมีชีวิตอยู่ และสองปีต่อมาสามารถทำให้แบคทีเรียที่มีอายุ 8 ล้านปี ซึ่งจำศีลอยู่ใต้ธารน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกา กลับมาเคลื่อนไหวมีชีวิตอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ดร.คลาเวรี ย้ำว่า อันตรายที่แท้จริงไม่ใช่การที่ชั้นดินเยือกแข็งละลายไปเรื่อย ๆ แต่เป็นมนุษย์ต่างหาก โดยเฉพาะในรัสเซียที่มีการเข้าไปสำรวจอาร์กติกและกำลังขุดชั้นดินเยือกแข็งที่มีอายุเป็นล้านปีจนเกิดช่องโหว่
มนุษย์คือตัวแปรของหายนะ เพราะมนุษย์ไปที่นั่นและที่นั่นก็มีไวรัสที่เพิ่งกลับมามีชีวิต เมื่อไวรัสเล็ดรอดออกจากชั้นดินเยือกแข็งเข้าสู่สิ่งแวดล้อม สัมผัสกับออกซิเจนหรือแสง อาจจะรอดชีวิตได้ไม่นาน
…เว้นเสียแต่จะได้พาหะที่เหมาะสม เช่น มนุษย์หรือสัตว์ที่อาจติดเชื้อจากที่นั่น และเป็นพาหะพาเชื้อนั้นไปแพร่กระจายกลายเป็นโรคระบาดในอนาคต.
Remark : เรื่องของ Climate change
ปัจจุบันเนื่องจากสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหรือ climate change กันแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuel) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา เป็นสาเหตุสำคัญที่ให้ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) ในบรรยากาศเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) หรือภาวะโลกร้อน (global warming)
เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และใช้เวลานานกว่าที่จะสังเกตพบได้ แต่กิจกรรมของมนุษย์ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาหรือตั้งแต่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้การสะสมก๊าซเรือนกระจกและการเก็บกักความร้อนในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลให้ภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศรวมถึงการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและความเข้มข้นจะไปจำกัดการสะท้อนกลับของพลังงานความร้อนของดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังพื้นผิวโลก ส่งผล ทำให้อุณหภูมิของพื้นดินและมหาสมุทรสูงขึ้นในปี 2001 (พ.ศ. 2544) คณะกรรมการระหว่าง รัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้ประเมินไว้ว่า นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้เพิ่มสูงขึ้น 0.6 องศาเซลเซียส และภายใน ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 1.4 ถึง 5.8 องศาเซลเซียส รวมถึงน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 0.1 ถึง 0.9 เมตร หากยังไม่มีมาตรการในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก
หากคุณชอบการอ่านบทความด้านความรู้และการใช้ชีวิตได้อย่าง สมดุล สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ที่นี่