ข้อกำหนดใหม่ของ EU ในเรื่อง Battery Passport ส่งผลต่อ iPhone อย่างไร?
เมื่อกฏหมายใหม่ของสหภาพยุโรป ออกมากำหนดให้ผู้ใช้ต้องสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่สมาร์ทโฟนเองได้ เรื่องนี้จะทำให้ Apple ต้องเจอปัญหากับผลิตภัณฑ์เรือธงอย่าง iPhone หรือไม่? แต่ที่มีความเป็นไปได้ กฏหมายใหม่นี้ อาจทำให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนราคาถูกต้องทบทวนกลยุทธ์กันใหม่
EU เรียกร้องให้การเปลี่ยนแบตเตอรี่ง่ายขึ้น
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2570 คือผู้ผลิตอุปกรณ์พกพาต้องใช้แบตเตอรี่ที่เปลี่ยนเองได้โดยง่าย ทั้งในสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต โดยทางสหภาพยุโรปมองว่า ผู้ใช้จะต้องสามารถถอดและเปลี่ยนแบตได้เอง เรื่องนี้ อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องมีการปรับเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนให้สอดคล้องตามข้อกำหนดที่ว่า
แนวคิดเบื้องหลังกฎระเบียบดังกล่าว ดูเหมือนจะเป็นการสร้างงานเพิ่มให้กับบรรดานักออกแบบผลิตภัณฑ์ และเป็นการบังคับให้ผู้ผลิตต้องออกแบบอุปกรณ์ใหม่ เรื่องนี้ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ Apple เพียงรายเดียว เพราะเป้าหมายหลักคือความต้องการในการผลักดันเรื่องความยั่งยืน เช่น การส่งเสริมให้มีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ และทำให้อุปกรณ์มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น รวมถึงการปรับปรุงมาตรฐานแบตเตอรี่ และสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนในการใช้แร่ธาตุที่มีค่า อย่างแคดเมียม ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ผลพวงที่ตามมากับกฎหมายฉบับนี้ ยังพูดถึงเรื่อง “พาสปอร์ตแบตเตอรี่” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามต้นกำเนิดของวัสดุที่ใช้ในเซลล์ ซึ่งกลายเป็นกำแพงอีกชั้นหนึ่งต่อความขัดแย้งด้านการจัดหาแร่ธาตุหายาก โดยที่กฎหมายยังกำหนดความรับผิดชอบให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่/อุปกรณ์ ต้องมีการเสนอแผนต่ออายุ เปลี่ยนใหม่ และรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ (สามารถอ่านรายละเอียดของเรื่อง Battery Passport ได้ ที่นี่)
อาจจะเป็นภาระเล็กน้อยในบริบทของการเร่งเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตที่ยั่งยืน แต่ดูเหมือนผู้ผลิตส่วนใหญ่จะยอมรับเรื่องนี้ได้ กระทั่ง Apple ก็ตาม
หรือจะเป็นจุดสิ้นสุดของยุคของสมาร์ทโฟนราคาถูก
สำหรับ Apple เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาบริษัทได้พยายามตรวจสอบแร่ธาตุที่นำมาใช้ผลิตอุปกรณ์ของตนอยู่แล้ว รวมถึงได้ให้คำมั่นอย่างจริงจังในการรีไซเคิลอุปกรณ์ โดย Apple ยังต้องการสร้างเศรษฐกิจการผลิตแบบหมุนเวียน ซึ่งเป็นสิ่งที่สหภาพยุโรปปรารถนาเช่นกัน
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ สมาร์ทโฟนราคาย่อมเยาหลายรุ่นในท้องตลาด อาจไม่ได้มีการเตรียมแผนเรื่องการรีไซเคิล และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ส่วนประกอบของอุปกรณ์บางครั้งอาจรวมแร่ธาตุที่มาจากเขตสงครามด้วย นั่นอาจเป็นเหตุที่ทำให้อุปกรณ์มีราคาถูก และทำให้ผู้ใช้หลายรายรู้สึกว่าแบตเตอรี่คุณภาพต่ำ มักจะอยู่ได้ไม่นานเท่ากับแบตเตอรี่ใน iPhone
เหตุผลที่ทำให้ iPhone ครองตลาดผู้ใช้มือถือมือสองทั่วโลก อาจเป็นเพราะผู้ใช้ยังสามารถนำเครื่องมือสองมาใช้งานโดยที่ให้ประสิทธิภาพในระดับสูงอยู่ แม้ความแรงของแบตเตอรี่จะลดลงบ้างก็ตาม นอกจากนี้การอัปเดตซอฟต์แวร์และความปลอดภัยก็เป็นไปโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องจัดการเอง นอกจากการออกแบบเพื่อให้มีอายุการใช้งานยาวนานแล้ว Apple ก็มีกระบวนการรีไซเคิลรองรับอยู่แล้ว แม้โดยความรับผิดชอบภายใต้กฎหมายของสหภาพยุโรปจะระบุว่ากระบวนการเหล่านี้อาจต้องขยายเวลาออกไป
หากเจาะลึกลงในรายละเอียด กฎระเบียบใหม่ดูคล้ายจะเป็นการกำหนดหลุมฝังสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตในราคาถูกที่ให้คุณภาพต่ำและใช้แบตเตอรี่ในระดับรองลงมา ซึ่งผู้ผลิตอุปกรณ์ราคาถูกเหล่านี้ ควรที่จะมีการดำเนินการบางอย่างเพื่อลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งลงในหลุมฝังกลบเมื่ออุปกรณ์เหล่านี้ไม่สามารถใช้งานได้
EU กับข้อกำหนดใหม่ ยังมีหลายเรื่องที่ต้องเรียนรู้
ผู้ผลิตคาดว่าจะรวบรวม 63% ของแบตเตอรี่แบบพกพาที่ปกติจะถูกนำไปฝังกลบภายในสิ้นปี 2027 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 73% ภายในสิ้นปี 2030 โดยที่สามารถนำเอา Lithium จากขยะแบตเตอรี่กลับมาใช้ในปริมาณ 50% ภายในปี 2027 และเพิ่มเป็น 80% ภายในปี 2031 นอกจากนี้ยังต้องมีปริมาณของธาตุอื่นที่ควรรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ เช่น โคบอลต์ อีกอย่างน้อย 16%
จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?
มีความเป็นไปได้ว่า Apple อาจไม่ต้องเปลี่ยนการออกแบบ iPhone รุ่นใหม่ โดยรายงานข่าวของสื่อเยอรมันฉบับหนึ่งอ้างว่า iPhone ที่มีแบตเตอรี่ถาวรอยู่ภายในจะไม่ถูกแบนภายใต้ข้อบังคับเหล่านี้ รายงานดังกล่าวอ้างว่ากฎหมายระบุว่าการมีแบตเตอรี่ในตัวเป็นเรื่องปกติ ถ้าเซลล์ที่นำมาใช้มีคุณภาพสูงเพียงพอ (ในกรณีนี้ เซลล์ต้องมีความจุอย่างน้อย 80% หลังจาก 1,000 รอบ)
รายงานดังกล่าวยังพูดถึงอุปกรณ์ที่มีคุณลักษณะในการกันน้ำอีกด้วย
กฎระเบียบใหม่ จะชัดเจนขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตที่ไม่ได้มีข้อได้เปรียบเหมือน Apple หรือยังไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการผลิตที่ยั่งยืน จะต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจครั้งใหญ่ นอกเหนือจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ และนี่คือเหตุผลที่หลายคนเริ่มมองไปในอนาคตว่า หรือนี่อาจจะเป็นจุดสิ้นสุดของอุปกรณ์ Android ราคาถูก
Remark เรื่องของ Battery Passport
แบตเตอรี่พาสปอร์ตเริ่มต้นในปี 2017 จากความต้องการในการติดตามและกำกับดูแลเรื่องการจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้ในอุปกรณ์พกพาและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ โดย IEC (International Electrotechnical Commission) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับมาตรฐานอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้เสนอแนวคิดเรื่องของ แบตเตอรี่ พาสสปอร์ต หรือตั๋วควบคุมการใช้งานแบตเตอรี่เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการใช้งานและประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ได้ รวมถึงวิธีการจัดเก็บและการตรวจสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่ต่าง ๆ
หลักการก็คือ แบตเตอรี่พาสปอร์ต จะเก็บข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับแบตเตอรี่ในรูปแบบของไฟล์ดิจิทัล และมีรหัส QR หรือรหัสแท็กที่ติดอยู่กับตัวแบตเตอรี่เพื่อให้อ่านข้อมูลได้ง่าย ด้วยการใช้อุปกรณ์ที่รองรับในการอ่าน
แบตเตอรี่พาสปอร์ตมีประโยชน์หลายด้าน เช่น การช่วยให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสามารถตรวจสอบความปลอดภัยและความสามารถของแบตเตอรี่ได้ อีกทั้งผู้บริโภคสามารถติดตามประวัติการใช้งานและประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ก่อนที่จะซื้อหรือใช้งาน นอกจากนี้ แบตเตอรี่พาสปอร์ตยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถจัดการและกำกับดูแลเรื่องของการทำลายแบตเตอรี่ในอุปกรณ์ที่หมดอายุการใช้งานให้เป็นไปตามข้อกำหนด
นับตั้งแต่มีการเสนอแนะในปี 2017 สมาคม IEC และสมาคมมาตรฐานไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งสหรัฐอเมริกา (American National Standards Institute, ANSI) ได้ร่วมมือกันในการพัฒนามาตรฐานสำหรับแบตเตอรี่พาสปอร์ต และเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี 2020 โดยได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมและผู้บริโภคทั่วไป ปัจจุบันนี้ สามารถพบแบตเตอรี่พาสปอร์ตในหลายอุปกรณ์พกพาและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่าง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป กล้องดิจิตอล อุปกรณ์เครื่องเขียน และอื่นๆ
เรียบเรียงจากบทความ New EU battery law could mean EOL for low-cost smartphones : ComputerWorld Online