โดยปกติดอกไม้บานเป็นสัญญาณบอกถึงการมาของฤดูใบไม้ผลิก่อนจะก้าวเข้าสู่ฤดูร้อน เป็นความสดชื่น ความสวยสดงดงาม การเกิดใหม่ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ แต่ไม่ใช่กับที่นี่…แอนตาร์กติกาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็ง
2 ปีที่ผ่านมาข่าวของดอกซากุระที่บานเร็วกว่าปกติเสมือนการสะกิดเตือนครั้งที่ 1 ถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปและเริ่มส่งผลกระทบให้เห็นอย่างชัดเจน มิพักต้องกล่าวถึงหายนะครั้งแล้วครั้งเล่าจากภูมิอากาศแบบสุดขั้ว เช่น การเกิดไฟป่าและน้ำท่วมรุนแรงในหลายต่อหลายพื้นที่ทั่วโลก
ล่าสุด อีกสัญญาณบ่งชี้ว่าโลกเราก้าวข้ามเส้นแดงเข้าไปยิ่งกว่าคือ ดอกไม้ที่ขั้วโลกใต้ที่ขยายพันธุ์อย่างเห็นได้ชัดและมาเร็วจนน่าใจหาย โดยเมื่อปีกลายนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินซูเบรียในอิตาลี ตีพิมพ์ผลการสำรวจพืชในแอนตาร์กติกา ซึ่งมีเพียง 2 ชนิด ได้แก่ หญ้าขนแอนตาร์กติก (Deschampsia antarcticathe) และ เพิร์ลเวิร์ตแอนตาร์กติก (Colobanthus quitensis) ระหว่างปี 2552- 2562 บนเกาะซิกนี (Signy Island) เกาะเล็กๆ ในหมู่เกาะออร์กนีย์ใต้ของทวีปแอนตาร์กติกา โดยเปรียบเทียบกับการสำรวจในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พบว่า…
ระยะเวลาเพียง 10 ปี ประชากรพืชทั้งสองชนิดเติบโตขึ้นหนาแน่นและอย่างรวดเร็ว โดยอัตราการเจริญเติบโตเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในแอนตาร์กติกาที่อุ่นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2555 ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน รวมถึงการลดลงอย่างมากของศัตรูตัวฉกาจอย่างแมวน้ำขน ทำให้พวกมันเติบโตอย่างรวดเร็ว
ไม่เพียงเท่านั้น นักวิจัยยังคาดว่าอุณหภูมิจะยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่มีการบันทึกว่า แอนตาร์กติกตะวันออกประสบกับคลื่นความร้อนครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา อุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันรายงานว่า อุณหภูมิใกล้ขั้วโลกใต้สูงถึง 39 องศาเซลเซียส สูงกว่าปกติเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
วอชิงตันโพสต์ ถึงกับรายงานว่า อากาศร้อนมากจนนักวิจัยที่นั่นสวมกางเกงขาสั้นและบางคนถึงกับถอดเสื้อไปอาบแดดเลยทีเดียว คาดว่าภายในสิ้นศตวรรษนี้ คลื่นความร้อนในทวีปแอนตาร์กติกาอาจเพิ่มขึ้นอีก 5-6 องศาเซลเซียส นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอันเลวร้ายต่อภาคพื้นทวีป
ทั้งนี้ ปัจจุบันแอนตาร์กติกาและหมู่เกาะโดยรอบปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็งถาวร โดยมีเพียงร้อยละ 1 ของพื้นที่เท่านั้นที่เหมาะสมสำหรับพืชดอก เช่น หญ้าขนแอนตาร์กติก และเพิร์ลเวิร์ตแอนตาร์กติก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนที่อากาศอบอุ่นขึ้น ทำให้ต้นไม้เติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ในช่วงปี 2552 ถึง 2561 และคาดว่าจะมีพื้นที่ปลอดน้ำแข็งบนคาบสมุทรแอนตาร์กติกาเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น สภาพแวดล้อมของพื้นที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป นั่นหมายความว่าเอื้อต่อพืช (และสัตว์) สายพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาแย่งพืชท้องถิ่นเดิม นักวิจัยกังวลว่าจะนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างถาวรในทวีปแอนตาร์กติกา
ดังที่ จัสมิน ลี นักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ กล่าวถึงการสำรวจแอนตาร์กติกของอังกฤษในปี 2565 ว่า “เรารู้ว่าพื้นที่ปลอดน้ำแข็งใหม่จะมีพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตร อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นและน้ำที่สูงขึ้นจะกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ที่พร้อมสำหรับการล่าอาณานิคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพืชและสัตว์บางสายพันธุ์เท่านั้น” และว่า
“น่าเสียดายที่สภาพอากาศที่อุ่นขึ้นกลับเป็นการลดอุปสรรคในการบุกรุกพืชและสัตว์ต่างถิ่น” เพราะนั่นหมายถึงคราวล่มสลายของระบบนิเวศในแอนตาร์กตา
ไม่ต้องดูอื่นไกล แค่นกเพนกวิน หนึ่งในดาราเอกของขั้วโลกใต้ ปัจจุบันมีรายงานการลดลงของประชากรมากกว่าร้อยละ 60 ผลมาจากสภาวะโลกร้อน ที่ทำให้แผ่นน้ำแข็งในขั้วโลกใต้ละลาย และเมื่อน้ำแข็งละลาย สัตว์ทะเลตัวเล็กๆ เช่นแพลงตอน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญหายไปด้วย สัตว์ชนิดต่างๆ ย่อมค่อยๆ สูญพันธุ์ไปตามการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ.