เพราะระบบนิเวศเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เกื้อกูลกัน เมื่อใดก็ตามที่ห่วงโซ่ชำรุดเกิดช่องโหว่ ย่อมรวนส่งผลกระทบกันไปหมดทั้งระบบ หรือนี่อาจจะเรียกว่าเกิด Ecological crisis ขี้นแล้ว
ทั้งนี้ สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นรายงานผ่านเว็บไซต์ igreenstory.co ว่า ปีนี้พบเหตุประชาชนถูกหมีทำร้ายมากสุดเป็นประวัติการณ์ เหตุอาหารในป่าขาดแคลนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ล่าสุด หญิงวัย 75 ปี จากเมืองฮาจิมันไต จังหวัดอิวาเตะ เสียชีวิตจากการถูกหมีโจมตีขณะเก็บเห็ดกับสามีวัย 79 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและมือเช่นกันหลังจากพยายามช่วยเหลือภรรยา
ตามข้อมูลระบุว่า ระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน 2566 ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจากการถูกหมีทำร้ายทั้งสิ้น 152 ราย เสียชีวิต 2 ราย ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนเหนือของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นตัวเลขสูงสุดที่เริ่มมีการบันทึกมาในปี 2550
สาเหตุที่หมีบุกรุกเมืองบ่อยครั้งมากขึ้นในปีนี้ คาดว่าเกิดจากลูกโอ๊คและถั่วบีชในป่าลดน้อยลง ผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขณะที่อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรหมีสูงขึ้น ทำให้หมีต้องบุกรุกแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์เพื่อหาอาหารเตรียมจำศีล
Ecological crisis ภาวะโลก ป่วน(ย) ที่ขยายวงกว้าง
ผลกระทบดังกล่าวไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชากรผึ้ง โดยนักวิจัยในสหราชอาณาจักรที่เฝ้าศึกษาการออกดอกของพืชกว่า 400 ชนิด นานถึง 266 ปี พบว่า ช่วงเวลาออกดอกของพืชพรรณต่างๆ ในอังกฤษเร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ จากช่วงกลางเดือนพฤษภาคมขยับขึ้นมาเป็นต้นเดือนเมษายน และมีแนวโน้มที่จะออกดอกเร็วขึ้นเรื่อยๆ
ที่น่ากังวลคือ หากการออกดอกของพืชพันธุ์เลื่อนมาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอยู่ในช่วงปลายฤดูหนาวของอังกฤษ สภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่ยังหนาวเย็นและบางพื้นที่มีหิมะตก ย่อมกระทบกับระบบนิเวศ เพราะเมื่อดอกไม้เฉาตายหมด ส่งผลต่อผึ้งและแมลงที่อาศัยน้ำหวานเป็นอาหาร อีกทั้งไม่เพียงการแพร่พันธุ์ของพืชที่ต้องหยุดชะงักลง แต่บรรดานกและสัตว์ที่พึ่งพาดอกไม้จะได้รับความเดือดร้อนถึงขั้นสูญพันธุ์ได้เลยทีเดียว
อ้างอิงจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เมื่อเดือนมีนาคม 2565 รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่สรุปงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศว่า…
หากอุณหภูมิโลกสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 4 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสถานการณ์สมมติที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงมาก พันธุ์พืชและสัตว์ครึ่งหนึ่งของโลกอาจถูกคุกคาม เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายให้กับพื้นที่ป่าฝน ป่าสาหร่ายทะเล และแนวปะการังเขตร้อนอย่างถาวร
ในรายงานฉบับดังกล่าวของ IPCC ยังระบุว่า เพียงอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส อาจมีชนิดพันธุ์ของสัตว์บนบกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงถึง 14 เปอร์เซ็นต์ โดยมลพิษที่มนุษย์สร้างขึ้นทำให้โลกร้อนขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสในช่วง 170 ปีที่ผ่านมา
ภายใต้สภาวะโลกร้อน 2 องศาเซลเซียส สิ่งมีชีวิตบนบก 18 เปอร์เซ็นต์ มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นถึง 29 เปอร์เซ็นต์ 39 เปอร์เซ็นต์ และ 48 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้ภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้น 3 องศา 4 องศา และ 5 องศาเซลเซียส ตามลำดับ
สัตว์ที่อาศัยอยู่ในอาร์กติก เช่น เพนกวิน แมวน้ำ และหมีขั้วโลก จะถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากภาวะโลกร้อนที่อุณหภูมิ 2 องศาหรือน้อยกว่า ซึ่งคาดการณ์ว่าน้ำแข็งในทะเลจะหายไปอย่างสมบูรณ์ในฤดูร้อนของศตวรรษถัดไป
ขณะที่พื้นที่เขตร้อนต้องเผชิญกับภัยคุกคาม อาทิ คลื่นความร้อน สาเหตุสำคัญที่ทำลายแนวปะการังเขตร้อนมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้อุณหภูมิ 1.5 องศา และถึงขั้นสูญพันธุ์โดยสิ้นเชิงภายใต้อุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียส
ปัจจุบันโลกมีสถิติอุณหภูมิที่สูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมแล้วราว 1.2 องศาเซลเซียส โดยใช้อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างช่วงปี ค.ศ.1850-1900 (พ.ศ.2393-2443) เป็นมาตรวัด แม้ว่าในความตกลงปารีสจะกำหนดให้ประเทศภาคีช่วยกันดูแลควบคุมมิให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส
แต่…หากจะให้ดีต้องควบคุมไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็น “เส้นแดง” ที่ขีดว่า ถ้าเกินกว่านี้เราจะไม่สามารถย้อนคืนกลับมาเหมือนเดิมได้อีกต่อไป.
Remark : Ecological crisis ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากมากกว่าภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า โลกกำลังร้อนขึ้นก็เพราะเรานั้นทำให้อุณหภูมิของโลกนั้นเปลี่ยนแปลงหรือ ร้อนขึ้น ซึ่งนั่นก็จริงแต่ในความจริงนั้น วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลก ที่เกิดขึ้นนั้นมีอีกหลายสาเหตุ
นอกจากสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้แหล่งอาหารของสัตว์บางประเทภนั้นหายไป อย่างหมีที่อาศัยในป่าต้องออกหาอาหารและหลุดเข้ามาในเขตเมือง เพราะสัญชาตญาณของการอยู่รอดบวกกับการขยายตัวของเขตเมืองเข้าใกล้พื้นที่อาศัยของสัตว์ป่า อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การสูญพันธ์ของสัตว์บางอย่างที่เป็นทั้งแหล่งอาหาร และทำหน้าที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่ธรรมชาติ
ซึ่งบางอย่างนั้นก็เกิดจากธรรมชาติเอง แต่โดยส่วนใหญ่นั้นจะเกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนรวมถึงการนำเอาสารเคมีต่างๆ มาใช้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างแมลง เชื้อราบางประเภท รวมถึงสัตว์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ ซึ่งวงจรนี้สร้างทั้งการทำลายสัตว์บางประเภทให้ลดจำนวนลง แต่กลับทำให้สัตว์บางประเภทเพิ่มขึ้นจนเพิ่มจำนวนเกิดพอดีในธรรมชาติ
และสัตว์ที่เพิ่มจำนวนอย่างควบคุมไม่ได้นี่เอง ทำให้เกิดการรุกรานกลับมาที่มนุษย์เหมือนกับที่เคยเจอมาแล้วอย่างเช่นฝูงตั๊กแตนปาทังก้าบุกโจมตีพื้นที่เพาะปลูกในอัฟริกาเหนือในอดีต หรือจำนวนของวัลลัสหรือสิงโตทะเลที่มีมากขึ้นในสถานที่ต่างๆ โดยบางครั้งพบการโจมตีมนุษย์เพราะคิดว่าเป็นอาหารเหมือนดังเช่นแมวน้ำ
ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้เกิด การเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อมของโลก แม้ว่าทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับเรื่องนี้ แต่ในภาพรวมในโลกนี้ยังคงไม่เห็นทางสว่างเลยว่าจะทำได้จริงหรือไม่
ผู้อ่านที่ติดตาม บทความสำหรับการใช้ชีวิตและความรู้รอบตัวจากทั่วโลก รวมถึงเรื่องราวดีๆ จากผู้เขียน rabbit2themoon สามารถอ่านข้อเขียนอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ที่นี่