ดึง AI ตัวช่วยแก้ไขปัญหาการก่อสร้าง-การดูแลคุณภาพน้ำ ลด Pain Point ธุรกิจ ชมไอเดีย Tech Talent รุ่นเยาว์แชมป์ค่าย Creative Creative AI Camp by CP All ปีที่ 6

Share

 

ความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ส่งผลให้มนุษย์สามารถพัฒนาแนวทางการนำ AI มาประยุกต์ใช้ได้กับทุกสายงาน สายอาชีพ เช่นเดียวกับเหล่า Tech Talent รุ่นเยาว์ระดับ ม.ปลาย อาชีวศึกษา และระดับมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1-2 จากค่าย Creative AI Camp by CP All ครั้งที่ 6 ที่ต่างโชว์ไอเดียความสามารถการนำ AI ไปแก้ไขปัญหาของคนในสายงาน สายอาชีพต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ และมีแนวโน้มนำไปต่อยอดได้จริง

สำหรับสุดยอดผลงาน 3 อันดับแรกที่โดนใจคณะกรรมการหลากสัญชาติทั้งไทย จีน สิงคโปร์และคว้าชัยในครั้งนี้ ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 กับทีม All For U สร้างสรรค์ประสบการณ์การช้อปปิ้ง โดยให้ AI เรียนรู้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค แล้วคอยช่วยแนะนำสินค้ายี่ห้อใหม่ๆ ประเภทใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะสนใจซื้

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กับทีม AI For Preventive Maintenance นำเสนอ AI สำหรับระบบงานบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance หรือ PM) เพื่อใช้ตรวจคุณภาพน้ำของเครื่องทำน้ำแข็ง น้ำร้อน น้ำ Slurpee ในร้านสะดวกซื้อ ช่วยตรวจสอบรูปต่างๆ ที่ถูกส่งเข้ามามากกว่า 8,700 รูปต่อเดือนผ่านระบบการประมวลผลด้วยภาพ (Image Processing) เพิ่มความมั่นใจด้านความปลอดภัยในคุณภาพน้ำก่อนถึงมือผู้บริโภค

ขณะที่รางวัลชนะเลิศ คว้ารางวัล 100,000 บาทในปีนี้ ตกเป็นของทีม Conalysis ที่นำเสนอ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์และแก้ปัญหางานซ่อมบำรุงด้านการก่อสร้าง ผ่านกรณีตัวอย่างร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

นายปวริศร์ ปัญญาสมบัติ

นายปวริศร์ ปัญญาสมบัติ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หนึ่งในสมาชิกทีม Conalysis เล่าว่า ปัจจุบัน ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น มีมากกว่า 14,000 สาขาทั่วประเทศ มีผู้ใช้บริการในแต่ละวันราว 12.6 ล้านคน งานบำรุงรักษาร้านจึงเป็นเรื่องสำคัญและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่พบคือ พนักงานส่วนใหญ่มีภาระหลักคือการขาย เมื่อต้องแจ้งซ่อมเข้ามายังหน่วยงานส่วนกลาง จึงมักเกิดปัญหาแจ้งซ่อมผิดพลาด แจ้งจุดที่ต้องซ่อมผิด แจ้งสเปกวัสดุที่ต้องการซ่อมผิด ส่งผลให้เกิดความเสียหายจากการแจ้งซ่อมผิดมากกว่า 8 ล้านบาทต่อปี จึงได้ร่วมกับทีมออกแบบ AI ที่มีระบบ Image Processing ให้ AI เรียนรู้ภาพวัสดุแจ้งซ่อมชนิดต่างๆ จากฐานข้อมูล เริ่มต้นจากกลุ่มกระเบื้อง เมื่อพนักงานถ่ายรูปความเสียหายเข้ามาในระบบ AI ก็จะช่วยประเมินภาพวัสดุ ชื่อวัสดุ ติดต่อไปยังซัพพลายเออร์และฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ ลดภาระหน้างานของพนักงาน พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการแจ้งซ่อมผิดพลาด

นายป๋วย ศศิพงศ์ไพโรจน์

ด้าน นายป๋วย ศศิพงศ์ไพโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่คณะผู้จัดงานพยายามบอกเยาวชนคือ อย่ากลัว AI และอย่ามอง AI เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เพราะวันนี้ AI ได้เปลี่ยนสถานะเป็นเสมือนเครื่องมือทั่วไป หรือ Common Toolsที่ไม่ว่าคนในสายอาชีพบัญชี กฎหมาย หรือสายอาชีพใดๆ ก็ตาม สามารถนำมาใช้เป็นผู้ช่วย เป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องเอา AI มาเป็นโมเดลพลิกโลก แต่สามารถนำ AI มาเป็นโมเดลประหยัดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสบการณ์ลูกค้า วิเคราะห์ลูกค้าให้แม่นยำยิ่งขึ้นได้ ส่งผลให้ภาพรวมผลงานเยาวชนในปีนี้ โดดเด่นกว่าทุกปี มีผลงานที่สามารถนำไปต่อยอดได้จำนวนมาก โดยเฉพาะทีมรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับ 1 ที่เลือกนำเทคโนโลยีการจดจำด้วยภาพ (Image Recognition) เข้ามาช่วยแก้ Pain Point ได้อย่างน่าสนใจ

หลังจากนี้ ผลงานเยาวชนทุกทีมจะได้รับการพิจารณานำไปต่อยอด ขณะเดียวกัน ตัวเยาวชนทุกทีมจะได้รับสิทธิ์เข้าเป็นสมาชิกของ Creative AI Club ซึ่งจะมีกิจกรรมการเรียนรู้และฝึกทักษะด้าน AI เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ กิจกรรมเวิร์คช็อปด้าน AI, Creative AI Hackathon, Retail Action, Future Innovator Campaign เสนอโอกาสให้เยาวชนได้รับสิทธิเป็นพนักงานของซีพี ออลล์ พร้อมรับสิทธิพิเศษ ผู้สนใจกิจกรรมของ Creative AI Club สามารถสมัครเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้ที่ https://caicamp.cpall.co.th/

Professor Han Shenglong Associate professor at Peking University

Professor Han Shenglong Associate professor at Peking University (รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการจัดการข้อมูล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง) หนึ่งในคณะกรรมการและพันธมิตรค่าย Creative AI Campกล่าวว่า การพัฒนา AI ในระดับโลกยังคงก้าวไปอย่างต่อเนื่อง ในจีนเองก็ยังมีการพัฒนาที่น่าสนใจหลากหลายด้าน อาทิ การพัฒนารถยนต์บินได้ไร้คนขับ ระบบการตรวจรักษาผู้ป่วยจากระยะไกล ขณะที่กลุ่มเยาวชน Gen Z ที่เข้าร่วมค่ายในปีนี้ ถือว่าแก้ปัญหาได้อย่างโดดเด่น หาต้นตอปัญหาที่เกิดขึ้นได้เจอ และเลือกวิธีการใช้ AI เข้ามาช่วยผ่านไอเดียที่ตรงจุด สำหรับเยาวชนไทยในภาพรวมที่สนใจเรื่องการพัฒนา AI ต้องให้ความสำคัญกับองค์ความรู้และหลักการพื้นฐานด้าน AI เช่น คณิตศาสตร์ สถิติ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ รวมถึงคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยี หาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้ AI นำไปสู่ผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย 

รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและกรรมการจัดค่าย Creative AI Camp

ด้าน รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล ที่ปรึกษาด้านการศึกษาและกรรมการจัดค่าย Creative AI Camp กล่าวว่า เยาวชนที่เข้าร่วมค่ายในปีนี้ คิดตอบโจทย์แก้ปัญหาในสภาพความเป็นจริงได้ดีขึ้น มีผลงานที่น่าประทับใจหลายผลงาน และสามารถต่อยอดได้ หลังจากนี้ ยังคงมองเห็นถึงความจำเป็นในการสนับสนุนด้าน AI ให้แก่เยาวชนในภาพรวม เพราะ AI จะมีบทบาทกับชีวิตประจำวันในด้านต่างๆ ทั้งด้านการทำงาน ด้านการดำรงชีวิตต่างๆ ต่อไปในอนาคต ถ้าเยาวชนให้ความสำคัญกับการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ต่อไป ก็จะสามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองให้ดียิ่งขึ้น และได้รับประโยชน์จาก AI

ทั้งนี้ การจัดค่าย Creative AI Camp ปีที่ 6 ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากพันธมิตรชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในสายงาน AI มากกว่า 30 ราย แบ่งเป็น 1.กลุ่มสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์, มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง ประเทศไต้หวัน, คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) 2.กลุ่ม Mentor และผู้สนับสนุนเครื่องมือ อาทิ บริษัท โกซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไอโนว์พลัส จำกัด, The Sun Plex Engineering And Software  Co., Ltd., Ambient19 Co., Ltd., Advantech Corporation (Thailand) Co., Ltd., บริษัท เวลเลียน ซอฟแวร์ จำกัด และ บริษัท เวคิน (ประเทศไทย) จำกัดโดยมีทีมงาน ตลอดจนผู้บริหารระดับ CEO และผู้ก่อตั้งของแต่ละองค์กรร่วมเป็น Mentor ด้วย    3.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในองค์กรเทคโนโลยีระดับโลกและมาร่วมเป็นวิทยากรแบ่งปันองค์ความรู้ในนามส่วนตัว และ 4.กลุ่มผู้สนับสนุนโจทย์ปัญหา เป็นผู้คัดเลือกโจทย์น่าสนใจที่เผชิญจริงในภาคธุรกิจ

สำหรับค่าย Creative AI Camp จัดขึ้นภายใต้ปณิธานองค์กร “Giving & Sharing” มุ่งเน้นให้เหล่าเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาชั้นปีที่ 1-2 ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ ได้พัฒนาทักษะความสามารถจนเป็น “คนพันธุ์ AI  หัวใจโกะ” (CreativeAIness) วิถีความเป็นมนุษย์ AI สร้างสรรค์ สามารถสร้างสรรค์ AI  ผสมผสานปรัชญาหมากล้อม เพื่อประโยชน์ของสังคม และกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนโลกในอนาคต ผู้สนใจกิจกรรมของ Creative AI Club สามารถสมัครเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้ที่ https://caicamp.cpall.co.th/

 

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles