ศ.ดร. สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมด้วย ศ.ดร. สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และ รศ.ดร. กิตติชัย ธนทรัพย์สิน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณาจารย์ และคุณมุกดา จงชนะชววัฒน์ ผู้อำนวยการกองแผนงาน และทีมงาน ร่วมให้การต้อนรับ คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินผลงานสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมนวัตกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมี คุณพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ และ รศ.ดร.อุเทน คำน่าน และคณะทำงาน เข้าร่วมประเมินผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยได้ส่งผลงานหุ่นยนต์ “น้องดาวเหนือหุ่นยนต์สรรพบริการ” ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการดำเนินงานภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เข้าประกวดผลงานสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) โดยคณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาผลงานในเบื้องต้น พร้อมทั้งลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมและรับฟังการนำเสนอผลงานด้านที่ 3 การนำองค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีและนวัตกรรม ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์
ศ.ดร. สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อดำเนินโครงการบ่มเพาะความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยได้พัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการโดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติกับมหาวิทยาลัย Kyushu Institute of Technology (KYUTECH) และบริษัท Yaskawa เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและการแลกเปลี่ยนบุคลากร เป็นประโยชน์ด้านการจัดการเรียนการสอน การสร้างนักศึกษาผู้ประกอบการ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการเรียนรู้แนวปฏิบัติในการนำเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในมหาวิทยาลัยนำมาใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการพัฒนานวัตกรรมด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรม โดยได้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย KYUTECH และบริษัท Yaskawa ตลอดจนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยได้มีการพัฒนาและทดสอบหุ่นยนต์บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม (บริษัท Double A ปราจีนบุรี และ บริษัท Global House นนทบุรี) ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้จัดหน่วยงานและมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่สอดรับกับการพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนที่สามารถสร้างและพัฒนาเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ ทั้งนี้ผู้แทนคณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินผลงานสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมนวัตกรรมดีเด่น ได้เยี่ยมชมผลการดำเนินงานของ มจพ. โดยมีความเห็นว่า ผลงานดังกล่าวตอบโจทย์การนำองค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริการวิชาการไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของภาคการผลิตและบริการ อีกทั้ง เป็นการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างกำลังคนในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงเพื่อสร้างบัณฑิต การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต การพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต (upskill) และการเพิ่มทักษะ (reskill) และเป็นการพัฒนากำลังคนที่สามารถสร้างพัฒนาเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ และส่งเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อเป็นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติ” ศ.ดร. สุชาติ เซี่ยงฉิน กล่าว.
“น้องดาวเหนือ” เป็นหุ่นยนต์สรรพบริการ (Service Robot) ที่มีประสิทธิภาพความหลากหลายด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ระบบการรับรู้ของหุ่นยนต์สามารถทักทายและตอบสนองต่อท่าทางของมนุษย์ สั่งการด้วยเสียง เทคโนโลยีการสร้างแผนที่และระบบนำทาง และมีระบบการชาร์ตแบบไร้สาย เมื่อปีงบประมาณ 2565 มจพ. ได้ดำเนินการจัดสร้างหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เพื่อเร่งการเติบโตของธุรกิจด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ช่วยในการรองรับการยกระดับมาตรฐานและเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมระดับประเทศ เพื่อการเรียนรู้แนวปฏิบัติในการนำเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในมหาวิทยาลัยมาใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ และร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์มาต่อยอดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ทัดเทียมในระดับนานาชาติต่อไป