“ร้านขายยาแห่งท้องทะเล” ฤาจะก้าวมาถึงบทสุดท้าย!!!

Share

 

ใต้ท้องทะเล คืออีกโลกที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ไปเยือน หลายคนเสพติดความงามของสิ่งมีชีวิตเบื้องล่าง ทั้งสีสัน ความอัศจรรย์แห่งธรรมชาติ ความท้าทายที่โลกบนบกให้ไม่ได้

ที่น่าสนใจมากไปกว่าความงามใต้ผืนน้ำสีครามคือ คุณค่าแห่งทรัพยากรที่ทั้งให้ทั้งความสุขใจและรักษากายแก่มนุษย์โลก ไม่เพียงแต่ท้องน้ำใต้ผืนทะเลและมหาสมุทรที่ทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เก็บกักความร้อนไว้ส่วนหนึ่ง ท้องทะเลแห่งนี้ยังเป็นคลังของตัวยารักษาโรคมากมายอย่างที่คาดไม่ถึง

นอกจากปะการัง ดอกไม้ทะเล กัลปังหา เปลือกหอย ปลิงทะเล ฯลฯ ที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของตัวยารักษาโรค เช่น ยาต้านมะเร็ง เบาหวาน โรคผิวหนัง รักษาการอักเสบ เป็นต้น ผลผลิตแห่งท้องทะเลที่ได้รับการยอมรับถึงกับให้สมญาว่า “ร้านขายยาแห่งท้องทะเล” ก็คือ “ฟองน้ำทะเล” (Marine sponges)

ความลับของฟองน้ำทะเล

“ฟองน้ำ” เป็นสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่บนโลกมาหลายร้อยล้านปี ก่อนมีไดโนเสาร์ด้วยซ้ำ มีด้วยกันประมาณ 15,000 สายพันธุ์ กินอาหารโดยการสูบน้ำผ่านร่างกายและกรองสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ออกไป หรือพูดอย่างเข้าใจง่าย ฟองน้ำ มีบทบาทเสมือนเป็นเครื่องกรองน้ำแห่งท้องทะล

ศักยภาพนั้นหรือ…สามารถกรองน้ำทะเลได้มากกว่า 10 เท่าของปริมาตรตัวมันเองภายในเวลา 1 ชั่วโมง และทำงานต่อเนื่องตลอดทั้งวันทั้งคืน นักนิเวศวิทยาทางทะเล ประเมินว่า ฟองน้ำขนาดเท่ากล่องนมก็เพียงพอที่จะกรองน้ำในสระว่ายน้ำให้ใสสะอาดได้สบายๆ

ฟองน้ำทะเลจึงมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลในแง่การปรับปรุงคุณภาพน้ำทะเลให้ใสสะอาด ช่วยกำจัดตะกอนขนาดเล็กและลดปริมาณตะกอนสารอินทรีย์ในน้ำทะเล

ทั้งนี้ ฟองน้ำทะเล ไม่เพียงเป็นบ้านให้กับสัตว์ต่างๆ นับไม่ถ้วน ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากสังเกตว่าฟองน้ำเป็นสัตว์ที่เกาะอยู่กับที่และเจริญเติบโตบนพื้นก้นทะเลแต่แทบไม่มีศัตรูมารบกวนเลย ที่สุดจึงพบว่า ฟองน้ำบางชนิดเลี้ยงแบคทีเรียไว้เป็นอาหารในระบบท่อน้ำแล้วสร้างสารต้านจุลชีพขึ้นมา เพื่อป้องกันอาหารตนเองถูกทำร้ายหรือแย่งชิงจากแบคทีเรียชนิดอื่น

เหนืออื่นใดคือ การเป็นเสมือนร้านขายยา หรือโรงงานผลิตยาลึกลับที่ผลิตสารประกอบทางเคมีหลายต่อหลายชนิดที่มีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง ต้านไวรัส ต้านแบคทีเรีย และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งช่วยชีวิตมนุษย์มาแล้วมากมาย

ตัวอย่างเช่น ยาไซทาราบีน (Cytarabine) ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งในระยะลุกลามหลายชนิด อาทิ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ฯลฯ เป็นยาตัวแรกจากฟองน้ำ ที่องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (FDA) อนุมัติให้มีการใช้ได้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2512

ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ยาที่ช่วยในการชะลอการเติบโตและแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเริม งูสวัด และโรคอีสุกอีใส ที่ได้รับการอนุมัติในปี 2524

นอกจากนี้ยังมี ยาซิโดวูดีน (Zidovudine) หรืออะซิโดไทมิดีน (AZT) ยาตัวแรกของโลกที่ใช้รักษาเอชไอวี เริ่มใช้เมื่อปี 2530 ยา Halaven รักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ในปี 2553

ล่าสุด ในปี 2563 FDA อนุมัติการใช้ ยาเรมเดสซิเวียร์ (Remdesivir) ในการรักษาไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ผู้ที่รับยายังฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ประเมินกันว่า จะมีการค้นพบสารเคมีออกฤทธิ์ทางชีวภาพมากกว่า 200 ชนิดในฟองน้ำทะเลทุกปี และบางส่วนก็พิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ทางยา

และที่เป็นความหวังของเหล่ามนุษยชาติคือ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแบคทีเรียที่มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ในฟองน้ำทะเล อาจเป็นคำตอบที่ช่วยแก้ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งองค์การอนามัยโลกประมาณการว่า จะเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในแต่ละปีมากถึง 10 ล้านคนภายในปี 2593

เทคโนโลยีสีเขียว ราคาที่ต้องแลก

ในขณะที่โลกเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่เทคโนโลยีที่สะอาดขึ้น โลกต้องใช้แบตเตอรี่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผืนน้ำเบื้องล่างก้นมหาสมุทรที่อยู่ลึกลงไปหลายร้อยฟุตและห่างไกลจากมนุษย์มานาน กำลังกลายเป็นสนามแย่งชิงผลประโยชน์กันอย่างร้อนระอุ โดยเฉพาะเขต Clarion-Clipperton Zone (CCZ) ที่อยู่ระหว่างฮาวายและเม็กซิโก ในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เป็นแหล่งของแร่โลหะ อย่าง โคบอลต์ แมงกานีส และนิกเกิล

แน่นอนว่า ลำพังการทำเหมืองใต้ทะเลลึก ก็ทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ที่มากไปกว่านั้นคือ บริเวณดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ที่พบฟองน้ำบ่อยที่สุด!

การทำเหมืองใต้ทะเลลึกอาจได้มาซึ่งแร่ธาตุสำคัญเพื่อสนับสนุนพลังงานสะอาด แต่ทำลายคลังทรัพยากรอีกมากมายที่ยังค้นไม่พบ นั่นหมายถึงมนุษย์กำลังสูญเสียแหล่งมีค่าทางการแพทย์ที่อาจช่วยชีวิตคนอีกนับล้านคนไปด้วย

ขณะที่ทั่วโลกกำลังรณรงค์ให้รักษาสิ่งแวดล้อม แต่อีกมือกลับกำลังบ่อนเซาะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ทำลายระบบนิเวศทางทะเล โดยอ้างเพื่อการสนับสนุนเทคโนโลยีสีเขียว…คุ้มแล้วหรือที่จะแลก!

 

สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles