ปรากฏการณ์ “ทะเลเป็นวุ้น” เมื่อ “แมงกะพรุน” อัพเกรดเป็นผู้ร้ายตัวใหม่ใต้สมุทร

Share

 

เป็นประเด็นใหม่ที่แวดวงนักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่มีใครคาดคิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ได้เน้นศึกษาพฤติกรรมของแมงกะพรุนในทุกมิติ ที่สำคัญคือ ที่ผ่านมาปรากฏการณ์โลกร้อนไม่ได้วิกฤตจนลุกลามบานปลายเป็นโลกเดือดเช่นทุกวันนี้

…เพราะการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศนั้นมีผลกระทบไปในทุกห่วงโซ่ในระบบนิเวศ จึงส่งผลไปในทุกสิ่งมีชีวิต

จากการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ นักสังเกตการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกพบว่า อุณหภูมิใต้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นไม่เพียงทำให้ปะการังฟอกขาว หรือน้ำแข็งขั้วโลกละลาย จนหมีขาวต้องหาบ้านใหม่อยู่ แต่อุณหภูมิของน้ำที่อุ่นขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4 เท่า ยังมีความเชื่อมโยงกับการขยายพันธุ์ของแมงกะพรุนที่เดินทางขึ้นเหนือไปบุกรุกจับจองพื้นที่ทางอาร์กติก จนเกิดปรากฏการณ์ “Jellification”

Jellifacation หรือ ปรากฏการณ์ทะเลเป็นวุ้น เป็นปรากฏการณ์ที่บรรดาแมงกะพรุนขยายตัวเข้ายึดครองพื้นที่หนึ่งๆ นั่นหมายความว่า ประชากรแมงกะพรุนที่บุกรุกเข้ามาแทนที่ประชากรสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่เดิม และกระทบต่อระบบนิเวศ ณ บริเวณนั้นๆ

เว็บไซต์ newscientist.com รายงานว่า สืบเนื่องจากเมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกละลาย นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า แมงกะพรุนหลายสายพันธุ์และแพลงก์ตอนสัตว์อื่นๆ อาจขยายตัวไปทางขั้วโลกเหนือ จนเกิดปรากฏการณ์ทะเลเป็นวุ้น คุกคามต่อระบบนิเวศ ซึ่งขณะนี้เริ่มปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว

Charlotte Havermans จากสถาบัน Alfred Wegener ประเทศเยอรมนี ถึงกับยอมรับว่า “สัตว์เหล่านี้บางชนิดเราแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับระบบนิเวศของมันเลย”

Havermans และเพื่อนร่วมงานจึงรวมชุดข้อมูลเกี่ยวกับการกระจายตัวของแมงกะพรุน 8 สายพันธุ์ที่ได้รับการบันทึกไว้มากที่สุด และสายพันธุ์ที่เป็นญาติของพวกมันที่อยู่ทั่วอาร์กติก โดยพิจารณากลุ่มสายพันธุ์ที่เป็นตัวแทน ตั้งแต่ไฮโดรซัว Aglantha digitale สายพันธุ์จิ๋ว ที่มีความยาวเพียง 1-2 เซนติเมตร ไปจนถึง แมงกะพรุนแผงคอสิงโตพิษ (Cyanea capillata) ซึ่งมีความยาวของลำตัวจากด้านบนสุดถึงปลายหนวดมากกว่า 30 เมตร

จากนั้นทำแบบจำลองศึกษาพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้สถานการณ์ที่น้ำอุ่นขึ้นจากการละลายของน้ำแข็ง อันเป็นผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลางจนถึงระดับสูงในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบางชนิดอาศัยอยู่ในทะเลลึกเท่านั้น พบว่า สปีชีส์ส่วนใหญ่มีการกระจายตัวและเคลื่อนไปทางขั้วโลกเหนือ

สาเหตุหลักมาจากการการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก โดยเฉพาะแมงกะพรุนแผงคอสิงโตพิษ ซึ่งมีการขยายตัวมากที่สุด โดยครอบคลุมพื้นที่เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า!

ข้อบ่งชี้ประการหนึ่งที่ยืนยันว่าแมงกะพรุนเริ่มขยายพื้นที่บุกรุกขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งบางครั้งส่งผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ที่ฟยอร์ดในหมู่เกาะสวาลบาร์ดของนอร์เวย์ มีจำนวนประชากรแมงกะพรุนแซงหน้าปลาค็อดไปแล้ว ส่งผลกระทบต่อการประมงท้องถิ่นจนแทบไม่มีปลาเหลืออยู่เลยในพื้นที่แถบนั้น

Havermans บอกว่า นอกจากนี้ยังมีรายงานอื่นๆ เกี่ยวกับจำนวนแมงกะพรุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องปรากฏการณ์ “ทะเลเป็นวุ้น” ที่กำลังมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในมหาสมุทรเป็นวงกว้าง แม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุได้อย่างเต็มปากก็ตามเนื่องจากยังขาดข้อมูลยืนยันชัดเจน

ประเด็นดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก คริสโตเฟอร์ ลีนัม จากศูนย์วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ผลกระทบจากการขยายตัวดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาตอบสนองจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลเสียต่อสัตว์บางชนิด แต่กับสัตว์ผู้ล่าอื่นๆ เช่น ปลาสุนัขมีหนาม หรือสัตว์กินเนื้อที่อยู่ลึกลงไปในทะเล ผู้บุกรุกอาจเป็นเพียงแหล่งอาหารใหม่ก็ได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าข้อถกเถียงในแวดวงจะเป็นไปทางไหน อย่างน้อยที่ส่งผลแน่ๆ คือ กระทบต่อห่วงโซ่อาหาร กระทบต่อระบบนิเวศ และที่สำคัญคือ เป็นอีกข้อยืนยันว่า โลกเปลี่ยนไปแล้วเพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปจากการกระทำของมนุษย์เรานี่แหละ

 

สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles