นับตั้งแต่มีการค้นพบกล้องจุลทรรศน์ ราวกับเปิดโลกใบใหม่ให้เราได้เข้าไปทำความรู้จักกับอาณาจักรอันลี้ลับของสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วที่แสนมหัศจรรย์ และห่างไกลจากการรับรู้ของมนุษย์เรา
ยิ่งมีปัญญาประดิษฐ์ ยิ่งช่วยให้การค้นพบความลับของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ผู้คนมองข้าม ยิ่งเผยตัวออกมามากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น ที่คิวการ์เด้นส์ สวนพฤกษศาสตร์ในสหราชอาณาจักร ที่นั่นนอกจากความสวยงามของต้นเรดวูดที่โดดเด่นเป็นสง่า หรือบัววิกตอเรียขนาดเท่ากระด้งโอบอุ้มมนุษย์ตัวน้อยๆ ได้อย่างสบายแล้ว ที่นี่ยังได้ชื่อว่าเป็นห้องสมุดเชื้อราที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ใช่ กำลังพูดถึง “เชื้อรา” หรือเรียกอีกอย่างว่าเห็ดรา ซึ่งประกอบด้วยรา เห็ด และยีสต์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างมากในฐานะผู้ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุที่เน่าเปื่อย
นับจากอดีตเราอาจรู้ซึ้งถึงคุณูปการของเชื้อราที่อยู่เบื้องหลังการค้นพบยาเพนิซิลิน ปัจจุบันเชื้อรากลายเป็นสารตั้งต้นที่ก่อเกิดนวัตกรรมก้าวหน้ามากมาย เช่น การรับบทบาทช่วยย่อยสลายพลาสติกภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์
เชื้อเห็ดราบางชนิดเป็นส่วนสำคัญในการผลิตพลาสติก ยางสังเคราะห์ และอื่นๆ อีกมากมาย ช่วยเปลี่ยนขยะทางการเกษตรให้เป็นไบโอเอทานอล บางชนิดใช้ในการผลิตโฟมโพลีสไตรีน ผลิตวัสดุก่อสร้าง ยังไม่เอ่ยถึงประโยชน์ในทางการแพทย์ อย่างช่วยในกระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น
ฮีโร่กู้โลกในอาณาจักรใต้ผืนดิน
สำหรับประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดในขณะนี้ที่นักวิทยาศาสตร์สหสาขาต่างให้ความสำคัญคือ การบรรเทาภาวะโลกเดือด แม้ว่าจะไม่ค่อยมีการพูดถึงบทบาทของฮีโร่เล็กจิ๋วเหล่านี้สักเท่าไร แต่ในความเป็นจริงเชื้อราไม่เพียงเป็นอีกฟันเฟืองในระบบ นิเวศ ยังเป็นกลไกทางธรรมชาติที่ช่วยดักจับคาร์บอนในอากาศได้อย่างทรงประสิทธิภาพที่สุดแล้ว
เป็นที่เข้าใจกันว่า ดินเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่ ในพื้นดินทั่วโลกมีคาร์บอนอินทรีย์ประมาณ 1.5 ล้านล้านตัน มากกว่าในชั้นบรรยากาศ 2 เท่า นักวิทยาศาสตร์เองเมื่อก่อนเคยคิดว่าคาร์บอนส่วนใหญ่เกิดจากการย่อยสลายของใบไม้และซากพืชที่สะสมบนดิน แต่ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า รากพืชและโครงข่ายเชื้อราเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการนี้
ลอร่า มาร์ติเนซ-ซูซ นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำการค้นคว้าวิจัยเบื้องหลังการทำงานของเชื้อราในการแยกกักคาร์บอนไดออกไซด์ในดิน โดยมุ่งเน้นไปที่ “ไมคอร์ไรซา” (Mycorrhiza) ซึ่งเป็นเชื้อราในกลุ่มที่อยู่ร่วมกับระบบรากพืช สร้างเครือข่ายที่สามารถเกาะเกี่ยวกัน และบางครั้งก็อยู่ภายในรากพืช โดยระหว่างที่มันส่งอาหารและน้ำไปยังพืชก็รับเอาคาร์บอนเข้ามา
“มันเป็นกระบวนการที่เหลือเชื่อมาก แม้เชื้อราจะมีขนาดเล็กแต่มันมีอยู่ในทุกหนแห่ง” มาร์ติเนซ-ซูซ บอก
ที่น่าสนใจคือ การปลูกป่าที่เป็นความหวังสำคัญในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ อาจมีไมคอร์ไรซาอยู่เบื้องหลัง แต่กระนั้นใช่ว่าคิดจะปลูกต้นอะไรตรงไหนก็ได้ ต้องคำนึงถึงพืชท้องถิ่นเดิมด้วย ตัวอย่างเช่น ทางตอนเหนือของสกอตแลนด์ที่นำต้นสนและต้นเบิร์ชมาปลูกเป็นป่าทดแทน กลับพบว่าเกือบ 40 ปีผ่านไป ไม่ได้ช่วยเพิ่มปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในดินเลย
การแทนที่เชื้อราที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ตรงนั้นด้วยเชื้อราชนิดอื่น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการกักเก็บคาร์บอนในดิน ยังกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในระยะยาวด้วย โดยผู้ร้ายตัวหลักๆ ในกรณีนี้คือ มลพิษจากไนโตรเจนซึ่งเข้าสู่ดินโดยการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อใช้เป็นไฟฟ้าและการขนส่ง รวมทั้งผ่านทางการเกษตร ปริมาณไนโตรเจนที่มากเกินไปจะเปลี่ยนองค์ประกอบของเชื้อราในดิน ดังนั้นเชื้อราที่กักเก็บสารอาหารได้ดีที่สุดเพื่อเปลี่ยนเป็นคาร์บอนเข้าสู่ดินจะลดลง
ในทางกลับกัน เมื่อมลพิษจากไนโตรเจนลดลง เชื้อราที่เป็นประโยชน์เริ่มกลับคืนสู่ป่า นั่นหมายความว่า หากระบบนิเวศถูกกดดันมากเกินไปอาจส่งผลให้ไม่มีสปอร์ของเชื้อราเหลือให้เพิ่มจำนวนประชากรอีกเลย
การศึกษาทำความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของเชื้อราเหล่านี้ในเชิงลึกจึงเป็นสิ่งจำเป็น และส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ในคิวการ์เดนส์ที่ทำงานกับเชื้อรายังมาได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น
…ยังคงมีความลับที่รอการค้นพบอีกมากมาย และนั่นอาจจะเป็นที่สุดของคำตอบก็ได้.