ภาพของไฟป่าอีตันและไฟป่าพาลิเซดส์ที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นหนึ่งในไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ยังไม่ทันจางหายจากความรู้สึก ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาญี่ปุ่นก็ต้องเผชิญกับไฟมรณะที่กลืนกินพื้นที่ป่ากว่าหมื่นไร่ในจังหวัดอิวาเตะ
เช่นเดียวกับที่ชิลีเกิดไฟป่าหลายสิบจุด เผาผลาญพื้นที่ป่าไปแล้วประมาณ 250,000 ไร่ในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศ ล่าสุด เกาหลีใต้ต้องต่อสู้กับไฟป่า โดยเฉพาะในเมืองอุยซองและอันดง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ลุกลามกินพื้นที่เกือบแสนไร่ รวมทั้งวัดพุทธโบราณอายุกว่า 1,300 ปี
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า ปรากฏการณ์ Weather Whiplash อาจเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มีแนวโน้มเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับลอสแองเจลิส
หากประเทศไทยประสบกับฝนตกหนักในบางปีและเปลี่ยนแปลงไปสู่ฤดูแล้งอย่างรวดเร็ว จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว หากมีลมแรงและอากาศแห้งจัด อาจทำให้ไฟป่าลุกลามในพื้นที่ที่มีพืชพันธุ์แห้งตายจำนวนมาก เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา
รปภ.หมู่บ้านคนใหม่ที่ชื่อ FireSat
ในที่สุด ต้นแบบ FireSat รุ่นแรกได้ปล่อยออกสู่ห้วงอวกาศเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จากฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์กในแคลิฟอร์เนีย โดยใช้ภารกิจ Transporter-13 ของ SpaceX
FireSat เป็นดาวเทียมเพื่อการเฝ้าระวังไฟป่าโดยเฉพาะ ประกอบด้วยกลุ่มดาวเทียม 52 ดวง ด้วยเทคโนโลยี AI ตรวจจับไฟขนาดเล็กถึง 5×5 เมตรได้ทั่วโลก อัปเดทภาพทุก 20 นาที
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง Google Research, Muon Space, Earth Fire Alliance, Moore Foundation, หน่วยงานดับไฟป่า และองค์กรพันธมิตรอื่นๆ โดย Google.org สนับสนุนเงินทุนกว่า 13 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ศักยภาพของ AI ในการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ มนุษยธรรม และสิ่งแวดล้อมจากไฟป่ารุนแรง
กูเกิลให้เหตุผลเบื้องหลังสนับสนุนการจัดทำ FireSat ว่า เนื่องจากระบบดาวเทียมปัจจุบันใช้ภาพความละเอียดต่ำ เก็บภาพพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแค่รอบเดียวทุก 12 ชั่วโมง ทำให้การเฝ้าระวังเหตุไม่ทันการณ์ บางครั้งกว่าจะทราบไฟป่าก็ลามกินพื้นที่ไปหลายเอเคอร์แล้ว ขณะที่ FireSat จะตรวจจับไฟป่าได้เล็กถึง 270 ตารางฟุต หรือ 25 ตารางเมตร และส่งภาพความละเอียดสูงอัพเดททุก 20 นาที
การทำงานของ FireSat ใช้ AI เปรียบเทียบภาพปัจจุบันกับภาพก่อนหน้านับพันภาพของสถานที่เดียวกัน คำนึงถึงสภาพอากาศในท้องถิ่นและปัจจัยอื่นๆ เพื่อการประเมินได้อย่างน่าเชื่อถือว่าสิ่งที่เห็นเป็นไฟป่าจริงหรือไม่ อย่างไร ซึ่งข้อมูลที่ได้นอกจากช่วยเฝ้าระวังสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ยังพร้อมให้ใช้งานสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังศึกษาวิจัยเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและคาดการณ์ลักษณะการลุกลามของไฟป่า
ทั้งนี้ กูเกิลจะแจกจ่ายข้อมูลจาก FireSat ฟรีให้แก่หน่วยงานดับไฟป่าทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด ด้วยความคาดหวังว่าจะช่วยพัฒนาพื้นฐานวิทยาศาสตร์ของไฟป่า และข้อมูลจากดาวเทียมจะช่วยสร้างบันทึกประวัติศาสตร์ไฟป่าทั่วโลก เพื่อให้เหล่านักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างแบบจำลองและเข้าใจพฤติกรรมของไฟป่าได้ดียิ่งขึ้น
เพราะ FireSat ไม่ใช่แค่เครื่องมือรับกับสถานการณ์ไฟป่าฉุกเฉิน ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทางอ้อมอีกด้วย โดยคาดว่ากลุ่มดาวเทียมทั้งหมดจะส่งขึ้นประจำการครบวงโคจรภายในปี 2030.
สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่