“ไมโครไบโอม” (Microbiome) “จุลชีพ” เปลี่ยนโลก

Share

 

“ไมโครไบโอม” (Microbiome) “จุลชีพ” เปลี่ยนโลก

 

เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมเวลาทดลองกลิ่นน้ำหอม หลังจากฉีดบนผิวต้องรอกลิ่นจางก่อนค่อยดม

น้ำหอมขวดเดียวกันฉีดใส่คน 2 คน จะให้กลิ่นที่ต่างกัน! นั่นเพราะ “ไมโครไบโอม” (Microbiome) จุลินทรีย์ตัวน้อยๆ ซึ่งมีทั้งแบคทีเรีย รา และไวรัส ที่ประจำการอยู่บนผิวหนังของแต่ละคนคือตัวแปรสำคัญ

ปัจจุบันจะเห็นว่าเครื่องประทินโฉมหลายๆ ชนิด เริ่มจะใช้จุดขายที่ “ไมโครไบโอม” ชูประเด็น “ระบบนิเวศผิว” ตัวไขความลับให้ผิวกลับมาเด็กลงอีกครั้ง

ประเด็นของ “ไมโครไบโอม” ไม่ได้น่าตื่นเต้นแค่ “สกิน ไมโครไบโอม” แต่ “จุลชีพ” ที่ว่ายังมีเป็นองค์ประกอบสำคัญในร่างกายมนุษย์ และมีจำนวนมากกว่าเซลล์ในร่างกายของเราประมาณ 10 ต่อ 1 คือมีมากถึง 2 ล้าน ถึง 20 ล้านยีนเลยทีเดียว ขณะที่มียีนมนุษย์ประมาณ 20,000 ยีน

ด้วยเหตุที่ร่างกายคนเราประกอบไปด้วยเซลล์มนุษย์เพียง 43% ที่เหลือเป็นจุลินทรีย์ และไม่ว่าจะชำระล้างทำความสะอาดเพียงใด แทบทุกซอกทุกมุมของร่างกายยังคงถูกปกคลุมไปด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งมีทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา โดยแหล่งที่มีจุลินทรีย์อาศัยอยู่มากที่สุดในร่างกายเราก็คือลำไส้ การศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วเหล่านี้จึงเป็นประเด็นสำคัญ

ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การศึกษาไมโครไบโอม ซึ่งเป็นยีนทั้งหมดของจุลินทรีย์ ร่วมกับการศึกษาจีโนม ซึ่งเป็นยีนทั้งหมดของมนุษย์ อาจมีประโยชน์ต่อการดูแลรักษาสุขภาพของเรา ทั้งในแง่ของการคาดการณ์โรคที่อาจเกิดขึ้น การเลือกวิธี หรือเลือกใช้ยาเพื่อการรักษาที่จำเพาะเจาะจงต่อตัวบุคคลในอนาคต

นักวิชาการทั่วโลกจึงเร่งทำการศึกษาวิจัยอย่างหนัก เพื่อไขความลับของจุลชีพเหล่านี้ โดยเชื่อว่านี่จะเป็นหนทางสู่การมีสุขภาพที่ดี ที่จะเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจเดิมๆ เกี่ยวกับโรคต่างๆ ตั้งแต่โรคภูมิแพ้ไปจนถึงโรคพาร์กินสัน รวมทั้งเป็นความหวังที่จะนำไปสู่นวัตกรรมการรักษาโรคแบบใหม่ๆ

ปัจจัยสนับสนุนประการหนึ่งคือ การทำวิจัยชีวนิเวศจุลชีพในหมู่ผู้ที่มีอายุยืนถึงหนึ่งศตวรรษขึ้นไป ซึ่งทีมวิจัยชาวญี่ปุ่นจากคณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคโอของญี่ปุ่น ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Nature โดยใช้กลุ่มตัวอย่างอายุ 100 ปีขึ้นไป อายุเฉลี่ย 107 ปี จำนวน 160 คน อายุ 85-89 ปี จำนวน 112 คน และอายุ 21-55 ปี จำนวน 47 คน พบว่า…

ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 100 ปี มีแบคทีเรียจำพวกที่ช่วยผลิตกรดน้ำดีทุติยภูมิ (secondary bile acid) โดยเฉพาะในลำไส้ สูงกว่ากลุ่มตัวอย่างในวัยอื่นมาก ซึ่งมีประโยชน์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคและเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ไม่ให้เจริญเติบโตภายในลำไส้ได้

บีบีซีไทย ยังรายงานอีกว่า ศาสตราจารย์ เคนยะ ฮอนดะ ผู้นำทีมวิจัย บอกว่า ในอนาคตอาจทำการศึกษาต่อยอด เพื่อนำเชื้อแบคทีเรียดีที่พบในคนอายุยืนร้อยปีขึ้นไปมาใช้เป็นโพรไบโอติกส์ (probiotics) ซึ่งหากได้รับประทานหรือนำเข้าร่างกายแล้วจะมีผลดีต่อสุขภาพ โดยช่วยต้านทานการติดเชื้อในลำไส้ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงผลจากการทำวิจัย ยังไม่มีหลักฐานยืนยันการเกี่ยวข้องกันระหว่างแบคทีเรียดังกล่าวกับการมีอายุยืน รวมทั้งยังไม่สามารถอธิบายกลไกเบื้องหลังการทำงานดังกล่าวได้

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles