Soft Power อันทรงพลังของไก่ทอดที่สุดแสนจะธรรมดา
แค่เอ่ยถึงตาก็วาว น้ำลายสอมาจ่ออยู่ที่ปลายลิ้น
หัวสมองพลันนึกถึงความกรุบกรอบ กับเนื้อขาวๆ ฉ่ำซอส
เสน่ห์ที่ยั่วยวนประสาทสัมผัสทั้งห้านี่เองที่ส่งผลให้ไก่ทอดขึ้นแท่นเมนูยอดนิยมระดับโลก และกลายเป็นกิมมิคเล็กๆ ที่ถูกหยิบยกมาเป็นลูกเล่นทางการตลาด เช่น ล่าสุดที่แบรนด์เจ้าตลาดไอศกรีมหยิบมาหยอกเอินแบรนด์เจ้าตลาดไก่ทอดจนสนั่นโซเชียล
อันที่จริงไก่ย่างบางตาลที่จัดว่าเด็ดในจักรวาลของไก่ทอดขมิ้นก็ยืนหนึ่งเช่นกัน แต่ที่ไม่พาดพิงเป็นไม่ได้คือ กล่องดวงใจของชาวเคป๊อบคือ “ชีแม็ก” ไก่ทอดเกาหลีกับเบียร์ คู่แพร์ที่สุดซี๊ดของคอซีรีย์เกาหลี
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลยุทธ์ทางการตลาดระดับประเทศของเกาหลีที่เอ็กซ์พอร์ตวัฒนธรรมในรูปแบบของ soft power ผ่านทางสายบันเทิงมาตั้งแต่ยุคแดจัมกึม ค่อยๆ ป้อนให้ผู้บริโภคชาวไทยซึมซับกับ เค-คัลเจอร์ เรื่อยมาจนถึงวันนี้ถามว่ามีติ่งเกาหลีคนไหนที่ห้ามใจไหวไม่กดสั่งไก่ทอดเวลาดูซีรีย์เกาหลีบ้าง
กระนั่นใช่ว่ามีแต่คนไทยที่หลงใหลได้ปลื้มกับไก่ทอดแกล้มเบียร์ เกาหลีเองก็เสพติดกันทั้งประเทศเช่นกัน แม้กระทั่งในยามนี้ที่ภาวะเงินเฟ้อทำให้ติ่งไก่หลายๆ รายถึงกับบ่นอุบที่ต้องยอมลดมื้อการบริโภคไก่เพราะราคาที่สูงขึ้นจนสะเทือนกระเป๋าสตางค์
ความที่ร้านไก่ทอดในเกาหลีมีมากกว่า 36,000 ร้าน และแต่ละร้านก็พยายามค้นหาและพัฒนาสูตรเพื่อสร้างเอกลักษณ์ความอร่อยของตนเองที่ไม่เหมือนใคร ทำให้การเลือกนั่งร้านไก่ทอดระดับมิชลินสตาร์ของเกาหลี อาจไม่น่าสนใจเท่าการสุ่มเสี่ยงเดินเข้าไปร้านไก่ทอดสักร้าน เพราะอารมณ์ที่ให้ความตื่นเต้นกับรสชาติไก่ทอดที่กำลังจะได้ประสบพบเจอไม่ต่างจากการไปนั่งกินโอมากาเสะ
ถามว่า ถ้าให้ขึ้นทะเบียนวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ควรมอบให้ประเทศไหน?
ผู้พันแซนเดอร์สเองก็เพิ่งมาจับธุรกิจไก่ทอดอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อไม่ถึงร้อยปี ขณะที่เกาหลีแม้ว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมจะมีไก่อยู่ในชีวิตประจำวันก็จะเป็นการปรุงประเภทต้มๆ ตุ๋นๆ เช่น ไก่ตุ๋นโสม ส่วนที่สร้างความปลาบปลื้มให้คนเสพติดกันไปทั่วโลกนั่นเป็นการลื่นไหลของวัฒนธรรมที่ได้แรงบันดาลใจจากทหารอเมริกันซึ่งมาช่วยรบในสงครามเกาหลี จุดเริ่มต้นของการเปิดร้านขายไก่ทอดแบบเฮ้าส์แบรนด์
เมื่อสนามการค้าเริ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการแต่ละร้านจึงต้องพยายามหาสูตรเด็ดเป็นของตนเองเพื่อมัดใจผู้บริโภค ทำให้ไก่ทอดเกาหลีเกิดการพัฒนาไปอย่างกว้างไกลและมีความหลากหลายให้เลือกลิ้มลองตามแต่รสนิยม
นั่นเป็นกระแสความนิยมที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อทศวรรษที่ 70 แต่ถ้าไล่ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การมีขึ้นของไก่ทอดในระดับโลก จะพบว่าไก่ทอดที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลกนั้นก็เริ่มมาจากรัฐทางตอนใต้ของอเมริกาในยุคจักรวรรดินิยมที่ยังมีการค้าทาสกันอยู่ โดยนายทาสอนุญาตให้กับแรงงานสามารถเลี้ยงได้แค่ “ไก่” เพื่อการบริโภคเองได้
ต้องบอกก่อนว่าไก่ทอดเป็นอาหารของชาวสก็อตมานานแล้ว แต่เป็นแบบที่ไม่ได้ใช้เครื่องปรุงแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อมีการนำทาสชาวแอฟริกันเข้าไปทำงานในพื้นที่เพาะปลูก เมื่อมีวาระพิเศษๆ จะมีไก่ทอดสูตรพิเศษเป็นเมนูแห่งการเฉลิมฉลอง โดยพ่อครัวจะใส่เครื่องปรุงรวมทั้งเครื่องเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ ที่สุดกลายเป็นประเพณีในชุมชนชาวแอฟริกันอเมริกันทางตอนใต้ ต่อมาเกิดการหลอมรวมเป็นไก่ทอดสไตล์อเมริกัน แม้มีการเลิกทาสไปแล้วความนิยมนี้กลับยิ่งแพร่กระจายกันออกไปเกิดเป็นแบรนด์ต่างๆ
ทำไมใครๆ ก็ชอบกินไก่ทอด?
ผู้สันทัดกรณีจากสหสาขาวิชา รวมทั้งนักกินทั้งหลายต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า มัน-อร่อย ซึ่งนอกจากรสชาติที่ชูความเค็มเป็นตัวเรียกน้ำย่อย เสียงความกรอบยังกระแทกหูเรียกความสนใจจากคนรอบข้างได้ดี ประมาณว่า ถ้ากัดแล้วไม่ดังมันไม่ฟิน
ตอกย้ำด้วยความเห็นของนักจิตวิทยาชาวอังกฤษ ชาร์ล สเป็นซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสมองกับของกิน ที่บอกว่า เสียงเคี้ยวอาหารช่วยกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกจากประสบการณ์ที่เคยลิ้มลองสิ่งนั้นได้มากขึ้น และสร้างความรู้สึกว่าอาหารนั้นสดใหม่
แต่…แต่ มิบังควรพาดพิงถึงประเด็นแคลอรี่เพราะบอกได้เลยว่า ไม่เบา ไก่ทอด 1 น่องให้ 346 กิโลแคลอรี่ เทียบกับความต้องการต่อวันของผู้หญิงที่ 1,500 กิโลแคลอรี่ และผู้ชาย 1,800 กิโลแคลอรี่ ผู้สันทัดกรณีจึงออกมาเตือนว่า…ไก่ทอดนั้น มีดีแค่การให้พลังงาน ไขมัน และความอร่อยเท่านั้น.
ภาพ: Delicious