วัดชีพจรอสังหาฯ ไทย ฝ่าสุญญากาศทางการเมือง ดีมานด์ผู้ซื้อยังไม่ฟื้น สวนทางตลาดเช่าพุ่งต่อเนื่อง

Share

 

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty)  เผยภาพรวมตลาดอสังหาฯ ยังเผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยตรง คนหาบ้านเลือกชะลอแผนซื้อบ้านหรือใช้เวลาตัดสินใจนานขึ้น เพื่อรอดูสถานการณ์ที่ชัดเจนในอนาคต ขณะที่ภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น แม้ความต้องการซื้อยังคงชะลอตัว โดยปรับลดลง 4% ในไตรมาสล่าสุด สวนทางตลาดเช่าที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ ดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้นทั้งที่อยู่อาศัยแนวสูงและแนวราบ ส่วนความต้องการเช่าเพิ่มขึ้นถึ13% สะท้อนให้เห็นเทรนด์ที่อยู่อาศัยยุคนี้ที่ผู้บริโภคเน้นเช่ามากกว่าซื้อ คาดว่าปัจจัยท้าทายหลักของคนอยากมีบ้านในปีนี้ยังมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย​

ข้อมูลล่าสุดจากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Report Q3 2566 ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลประกาศขาย-เช่าอสังหาฯ บนเว็บไซต์ DDproperty เผยภาพรวมดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน (QoQ) แต่ยังลดลง 6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) โดยเป็นการปรับลดลงถึง 10% จากช่วงเวลาเดียวกันก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (ไตรมาส 2 ปี 2562) สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยในระยะยาวยังคงไม่ฟื้นตัวดีดังเดิม

อย่างไรก็ดี ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในทุกประเภท เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาที่ดิน วัสดุก่อสร้าง และค่าแรง ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าตามไปด้วย โดยทยอยปรับขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อผู้บริโภคในขณะนี้ ส่งผลให้ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวปรับเพิ่มมากที่สุด 2% QoQ ขณะที่ดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์และคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเท่ากันที่ 1% QoQ ทั้งนี้ หากเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ พบว่า ที่อยู่อาศัยแนวราบยังคงมีการเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยดัชนีราคาของบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ปรับเพิ่มขึ้น 13% และ 6% ตามลำดับ มีเพียงคอนโดฯ ที่ดัชนีราคาลดลงมากที่สุดถึง 25%

นายวิทยา อภิรักษ์วิริยะ ผู้จัดการทั่วไป Think of Living และ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (ฝั่งดีเวลลอปเปอร์)

นายวิทยา อภิรักษ์วิริยะ ผู้จัดการทั่วไป Think of Living และ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (ฝั่งดีเวลลอปเปอร์) กล่าวว่า “ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปีนี้มีสัญญาณเติบโต แต่ไม่หวือหวาอย่างที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีปัจจัยท้าทายรอบด้าน ทั้งจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงไม่ฟื้นตัว ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 15 ปี ขณะที่ข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 55.6 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ประกอบกับการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการวางแผนเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้บริโภคกังวลต่อดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ที่กำลังผ่อนบ้านก็มีภาระเพิ่มขึ้นและต้องใช้ระยะเวลาผ่อนชำระนานขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทิศทางการเติบโตของตลาดอสังหาฯ ปีนี้ผันผวนได้เสมอ”

“ภาพรวมดัชนีราคาในตลาดอสังหาฯ ไตรมาสล่าสุดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยตามกลไกตลาดในทุกประเภทที่อยู่อาศัย ให้สอดคล้องกับต้นทุนการก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้น สวนทางกับความต้องการซื้อที่ลดลงจากปัจจัยแวดล้อมที่กระทบด้านการเงิน ซึ่งสร้างความท้าทายและกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงเลือกชะลอแผนการซื้อที่อยู่อาศัยออกไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ที่ชัดเจนมากขึ้นในอนาคต

ดังนั้น หากผู้บริโภคต้องการจะซื้อบ้าน/คอนโดฯ ในเวลานี้ควรเช็กสภาพคล่องทางการเงินก่อนเป็นอันดับแรก ต้องมีการวางแผนการเงินที่รัดกุมและรอบคอบ รวมทั้งมีการสำรองเงินเก็บไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน และลดการสร้างรายจ่ายที่ไม่จำเป็นที่อาจก่อให้เกิดหนี้สินเพิ่ม หรือเลือกซื้อโครงการบ้านมือสองซึ่งมีต้นทุนราคาที่ถูกกว่า หรือเลือกเช่าที่อยู่อาศัยซึ่งตอบโจทย์ทางการเงินมากกว่าแทน” นายวิทยา กล่าวเสริม

 

เทรนด์เช่ายังโตต่อเนื่อง จับตานโยบายเศรษฐกิจดันคนซื้อบ้าน

“จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่ระบาดฯ ส่งผลให้เทรนด์การเช่าที่อยู่อาศัยเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยความต้องการเช่าล่าสุดเพิ่มขึ้นถึง 108% ขณะที่ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นเพียง 7% เท่านั้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ Generation Rent ที่พฤติกรรมคนรุ่นใหม่เน้นเช่ามากกว่าซื้อ ส่งเสริมให้ดีมานด์ในตลาดเช่าสูงมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในตลาดอสังหาฯ เช่นกัน แต่ด้วยความไม่พร้อมทางการเงิน จึงไม่อยากมีภาระผูกพันระยะยาวจากการเป็นหนี้จากการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย จึงเลือกการเช่าที่มีความยืดหยุ่นและประหยัดรายจ่ายมากกว่าแทน”

“ปีนี้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวอีกครั้ง รวมทั้งกำลังซื้อชาวต่างชาติจะช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดอสังหาฯ โตตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องจับตามองว่าวิกฤติอสังหาฯ ในประเทศจีนจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจจีนมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตามองปัจจัยท้าทายภายในประเทศอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอนที่กระทบความเชื่อมั่นของผู้ซื้อและนักลงทุน แต่คาดว่าจะเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากประเทศไทยผ่านความไม่แน่นอนทางการเมืองมานานหลายทศวรรษ แต่ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ก็ยังคงกลับมาเดินหน้าและเติบโตต่อไปได้อย่างค่อนข้างมั่นคง คาดว่าเมื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสร็จสิ้นและมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน จะช่วยปลุกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนให้กลับมาอีกครั้ง และหากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการซื้อ-ขายในตลาดอสังหาฯ ออกมา ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กลุ่ม Real Demand สามารถเข้าถึงสินเชื่อและเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ช่วยขับเคลื่อนตลาดอสังหาฯ ให้กลับมาโตอย่างคึกคักอีกครั้งในช่วงปลายปี” นายวิทยา กล่าวสรุป

 

อัปเดตทิศทางตลาดอสังหาฯ ดีมานด์ซื้อระยะสั้นหดตัว สวนทางดีมานด์เช่าพุ่งต่อเนื่อง

รายงาน DDproperty Thailand Property Market Report Q3 2566 ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลประกาศขาย-เช่าอสังหาฯ บนเว็บไซต์ DDproperty เผยข้อมูลเชิงลึกของตลาดอสังหาฯ ไทยในไตรมาสล่าสุด พร้อมสรุปภาพรวมดัชนีราคา และความต้องการที่อยู่อาศัยทั้งในตลาดซื้อและเช่า รวมทั้งอัปเดตทำเลศักยภาพที่ดัชนีราคาและดัชนีค่าเช่ามีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ

  • ดีมานด์ผู้ซื้อชะลอตัว ที่อยู่อาศัยราคา 1-3 ล้านบาท มีจำนวนมากสุด ภาพรวมความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ในระยะสั้นมีการปรับตัวลดลง 4% QoQ และลดลงถึง 32% YoY เนื่องจากผู้บริโภคยังคงเผชิญความท้าทายทางการเงินรอบด้านต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี เมื่อพิจารณาตามประเภทที่อยู่อาศัยพบว่า ทาวน์เฮ้าส์เป็นที่อยู่อาศัยรูปแบบเดียวที่ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นในไตรมาสล่าสุด โดยเพิ่มขึ้น 1% QoQ (ลดลง 24% YoY) ขณะที่ความต้องการซื้อบ้านเดี่ยวลดลง 2% QoQ (ลดลง 32% YoY) ส่วนความต้องการซื้อคอนโดฯ ลดลงมากที่สุด 4% QoQ (ลดลง 33% YoY)

หากเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ จะพบว่า ภาพรวมความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นถึง 7% สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มดีมานด์ผู้ซื้อในระยะยาวยังคงเติบโต แม้จะไม่หวือหวา ที่อยู่อาศัยแนวราบยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยทาวน์เฮ้าส์มีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 27% ตามมาด้วยบ้านเดี่ยวที่เพิ่มขึ้น 20% มีเพียงคอนโดฯ ที่ความต้องการซื้อในระยะยาวยังคงหดตัวและลดลง 1% สะท้อนให้เห็นว่าแม้ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ จะคลี่คลายลง แต่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่ได้เปลี่ยนไปแล้ว จึงยังคงให้ความสำคัญกับการเลือกที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้นในราคาที่เอื้อมถึงได้ ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยแนวราบยังคงตอบโจทย์ผู้ซื้อและมีสัญญาณบวกในระยะยาว

ขณะที่ภาพรวมที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่มีราคาขายอยู่ที่ 1-3 ล้านบาท ด้วยสัดส่วนถึง 27% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดในกรุงเทพฯ เมื่อพิจารณาตามประเภทอสังหาฯ พบว่า คอนโดฯ และทาวน์เฮ้าส์ส่วนใหญ่มีราคาอยู่ที่ 1-3 ล้านบาท (สัดส่วน 29% และ 41% ตามลำดับ) ขณะที่บ้านเดี่ยวส่วนใหญ่ (43%) มีราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งผู้พัฒนาอสังหาฯ ได้หันมาทำตลาดสินค้าในกลุ่มบ้านระดับพรีเมียมและบ้านหรูมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้บริโภคระดับบนที่มีกำลังซื้อสูงและมีความพร้อมทางการเงินมากกว่า จึงเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจซื้อตามไปด้วย และยังมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารและสถาบันการเงินที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางและล่าง

เมื่อแบ่งประเภทที่อยู่อาศัยตามทำเลยอดนิยมพบว่า “เขตวัฒนา” ถือเป็นทำเลที่มีจำนวนคอนโดฯ มากที่สุดด้วยสัดส่วนถึง 16% ของจำนวนคอนโดฯ ทั้งหมดในกรุงเทพฯ เนื่องด้วยเป็นทำเลศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ (CBD) ที่เป็นทั้งแหล่งธุรกิจและแหล่งงานขนาดใหญ่ จึงมีความต้องการที่อยู่อาศัยสูงตามไปด้วย ขณะที่ที่อยู่อาศัยแนวราบส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก โดย “เขตประเวศ” เป็นทำเลที่มีจำนวนบ้านเดี่ยวมากที่สุด มีสัดส่วน 8% ของจำนวนบ้านเดี่ยวทั้งหมดในกรุงเทพฯ และทำเลที่มีจำนวนทาวน์เฮ้าส์มากที่สุด ได้แก่ เขตคลองสามวา สัดส่วนอยู่ที่ 10% ของจำนวนทาวน์เฮ้าส์ทั้งหมดในกรุงเทพฯ

  • ดีมานด์ผู้เช่าพุ่งทุกประเภท ดันดัชนีค่าเช่าโตต่อเนื่อง ภาพรวมดัชนีค่าเช่าในกรุงเทพฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกประเภทที่อยู่อาศัย โดยที่อยู่อาศัยแนวสูงอย่างคอนโดฯ และอะพาร์ตเมนต์มีดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้น 3% QoQ (เพิ่มขึ้น 4% YoY) ส่วนที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 8% QoQ แต่ยังทรงตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ พบว่า มีเพียงที่อยู่อาศัยแนวราบเท่านั้นที่มีทิศทางเติบโตเป็นบวก โดยดัชนีค่าเช่าบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้นถึง 51% สวนทางกับดัชนีค่าเช่าคอนโดฯ และอะพาร์ตเมนต์ที่ลดลง 9% สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาผู้ให้เช่าได้ปรับลดราคาให้สอดคล้องกับความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพื่อดึงดูดการตัดสินใจเช่า ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันในตลาดเช่าที่สูงมากขึ้น

ด้านภาพรวมค่าเช่าที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่พบว่า 51% ของที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ทั้งหมดจะอยู่ที่ระดับ 10,000-30,000 บาท/เดือน เมื่อแบ่งตามประเภทที่อยู่อาศัยพบว่าคอนโดฯ และทาวน์เฮ้าส์ส่วนใหญ่จะมีค่าเช่าอยู่ที่ 10,000-30,000 บาท/เดือน (สัดส่วน 53% และ 36% ตามลำดับ) ขณะที่ 50% ของบ้านเดี่ยวส่วนใหญ่นั้นมีค่าเช่า 100,000 บาทขึ้นไป/เดือน สะท้อนให้เห็นว่าบ้านเดี่ยวขนาดใหญ่ที่มีฟังก์ชั่นครอบคลุมการใช้งาน หรือตั้งอยู่ในทำเลทองมีการนำมาปล่อยเช่ามากขึ้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทั้งผู้บริโภคที่มีความสามารถในการใช้จ่ายสูงซึ่งมีแผนย้ายถิ่นฐานในอนาคต และชาวต่างชาติที่มาพำนักในไทย

สำหรับภาพรวมดัชนีความต้องการเช่าที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับเพิ่มขึ้นถึง 13% QoQ แม้จะลดลง 30% YoY ก็ตาม เมื่อพิจารณาตามประเภทที่อยู่อาศัยพบว่าความต้องการเช่าในระยะสั้นปรับขึ้นทุกประเภท โดยความต้องการเช่าคอนโดฯ เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 14% QoQ (ลดลง 30% YoY) ตามมาด้วยบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 6% QoQ (ลดลง 33% YoY) และทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 4% QoQ (ลดลง 30% YoY)

อย่างไรก็ดี ความต้องการเช่าที่อยู่อาศัยในระยะยาวยังคงมีทิศทางเติบโตเป็นบวก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ พบว่าภาพรวมดัชนีความต้องการเช่าที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นถึง 108% โดยเฉพาะคอนโดฯ ที่ถือเป็นอสังหาฯ เพื่อเช่าที่ได้รับความนิยมสูงสุด มีความต้องการเช่าโตต่อเนื่อง ปรับเพิ่มขึ้นถึง 143% ขณะที่ทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 2% มีเพียงบ้านเดี่ยวเท่านั้นที่ความต้องการเช่ายังทรงตัวจากช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ จากแนวโน้มความต้องการเช่าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ สะท้อนให้เห็นว่าตลาดเช่ายังคงมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคยังไม่มีความพร้อมทางการเงินเพียงพอ รวมทั้งไม่อยากมีภาระผูกพันระยะยาวจากการซื้อที่อยู่อาศัย

ทำเลที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบไตรมาส ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลพื้นที่นอกเขตศูนย์กลางธุรกิจและพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก ซึ่งมีที่อยู่อาศัยแนวราบเป็นหลัก และตั้งอยู่ใกล้เส้นทางที่รถไฟฟ้าพาดผ่าน ได้แก่

  • เขตคันนายาว ถือเป็นทำเลที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นถึง 15% QoQ แม้จะเป็นพื้นที่นอกเขตศูนย์กลางธุรกิจก็ตาม เป็นทำเลที่มีโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบเป็นส่วนใหญ่ และอยู่ใกล้รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2567
  • ตามมาด้วย เขตบางคอแหลม มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 8% QoQ อีกหนึ่งทำเลนอกเขตศูนย์กลางธุรกิจที่เป็นแหล่งงานย่านพระราม 3 ใกล้กับสาทร-สีลม ปัจจุบันยังมีโครงการพัฒนาต่อเนื่อง เช่น ศูนย์การค้าขนาดใหญ่
  • เขตสะพานสูง มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 7% QoQ พื้นที่นอกเขตศูนย์กลางธุรกิจ อีกหนึ่งทำเลบ้านแนวราบใกล้เมือง โดยเฉพาะโครงการหรูย่านกรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม และยังใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิอีกด้วย
  • เขตบางเขน มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 7% QoQ พื้นที่นอกเขตศูนย์กลางธุรกิจใกล้รถไฟฟ้า 2 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรีที่กำลังจะเปิดให้บริการ อีกทั้งยังอยู่ใกล้สนามบินดอนเมือง เชื่อมต่อการเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • เขตบึงกุ่ม มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 6% QoQ พื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกที่อยู่ใกล้แหล่งงาน และเป็นทำเลที่มีที่อยู่อาศัยแนวราบเป็นจำนวนมาก ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มองหาบ้านที่มีพื้นที่มากขึ้น

ทำเลที่มีดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบไตรมาส ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก และพื้นที่นอกเขตศูนย์กลางธุรกิจเช่นกัน รวมทั้งอยู่ในทำเลแนวรถไฟฟ้าสายปัจจุบันและอนาคต ได้แก่

  • เขตทุ่งครุ เป็นทำเลที่มีดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้นมากที่สุด 24% QoQ โดยเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกที่ใกล้แหล่งงานและสถานศึกษา ตั้งอยู่ใกล้พระราม 2 และไม่ไกลจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงต่อขยาย เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) จึงมีความสะดวกในการเดินทาง
  • ตามมาด้วย เขตทวีวัฒนา ดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้น 21% QoQ พื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกที่เป็นทำเลของที่อยู่อาศัยแนวราบ ถือเป็นอีกทำเลที่เดินทางได้สะดวก ทั้งอยู่ใกล้ทางด่วน รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ที่มีแผนก่อสร้างในอนาคต
  • เขตลาดพร้าว ดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้น 16% QoQ พื้นที่นอกเขตศูนย์กลางธุรกิจใกล้ใจกลางเมืองและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ จึงมีความเป็นย่านเชิงพาณิชย์แบบแหล่งช้อปปิ้ง นอกจากนี้ยังมีรถไฟฟ้า 2 สายพาดผ่าน ทั้งสายสีน้ำเงิน และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง
  • เขตหนองแขม ดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้น 13% QoQ พื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอก แม้เป็นทำเลชานเมืองแต่ไม่ไกลจากรถไฟฟ้าและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ โดยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามแผนการสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหลักสอง-พุทธมณฑลสาย 4 ในอนาคต
  • เขตบางเขน ดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้น 10% QoQ พื้นที่นอกเขตศูนย์กลางธุรกิจ อีกหนึ่งทำเลใกล้เมือง ใกล้สถานศึกษาชื่อดังและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อานิสงส์จากการที่มีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และอยู่ใกล้สนามบินดอนเมือง ส่งผลให้เป็นเขตเดียวที่ติด 5 อันดับทำเลที่มีดัชนีราคาและดัชนีค่าเช่าเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบไตรมาส
innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles