เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การขยับดีกรีจากโลกร้อนเป็นโลกเดือด หนึ่งในตัวร้ายมักเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แต่จริงๆ แล้วเบื้องหลังที่เป็นนายใหญ่คือ มนุษย์อย่างเราๆ นี่เอง
ทุกวันนี้จึงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องทุกวิถีทางเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ…
เจาะลึกในทุกมิติ ครอบคลุมไปถึงว่า “ตดวัว” เป็นอีกตัวการที่เพิ่มอุณหภูมิโลก เพราะในกระบวนการย่อย (หญ้า) ในกระเพาะอาหารวัวจะปล่อยก๊าซมีเทนออกมา ประเมินกันว่าวัว 1 ตัวปล่อยก๊าซปีละมากกว่า 99 กิโลกรัมต่อปี และยังโยงต่อไปถึงอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบสัดส่วนของการปล่อยมีเทนด้วยน้ำมือมนุษย์
แน่นอนว่าหนึ่งในเหตุผลของการคิดค้นอาหาร Plant based ก็เพื่อลดการใช้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ เนื่องจากในกระบวนการทำอาหารเหล่านี้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากมาย
ล่าสุด รายงานฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Sustainability เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กล่าวถึงความสำเร็จของ Savor บริษัทสตาร์ทอัพรายหนึ่งในเมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตเนยจากคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ
ถามว่าแล้วรสชาติเป็นอย่างไร?
บิล เกตส์ ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการและได้ลิ้มลองเนยดังกล่าวแล้ว รีวิวในบล็อกของตนเองว่า รสชาติเหมือนเนยอย่างน่าอัศจรรย์!
กระบวนการเสก “ตัวร้าย” ให้เป็น “ของอร่อย”
ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FDA) ระบุว่า ปศุสัตว์มีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึง 14.5% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ขณะที่ทางเลือกอื่น อย่างการใช้ไขมันจากน้ำมันปาล์มก็มีส่วนทำให้เกิดการทำลายป่าและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างแพร่หลาย
ขณะที่ Savor ประมาณการว่า 7% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากการผลิตไขมัน จึงตั้งต้นโจทย์ผลิตภัณฑ์ตนเองที่ “ไขมัน” โดยเริ่มจากข้อเท็จจริงที่ว่า ไขมันทั้งหมดประกอบด้วยสายโซ่ของอะตอมคาร์บอนและไฮโดรเจนที่แตกต่างกัน
กรณีของเนยธรรมดามีไขมันประมาณ 80% ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นน้ำ ดังนั้นในการผลิตเนยจากไขมันสังเคราะห์ของ Savor จึงใช้กระบวนการไม่ซับซ้อน เพียงแค่เติมน้ำ
นั่นคือ การใช้กระบวนการเทอร์โมเคมีที่ดึงคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ แล้วรวมเข้ากับไฮโดรเจนและออกซิเจนเพื่อสร้างไขมันสังเคราะห์ จากนั้นไขมันนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นเนยโดยการเติมน้ำ สารอิมัลซิไฟเออร์ เบต้าแคโรทีนสำหรับแต่งสี และน้ำมันโรสแมรี่เพื่อเพิ่มรสชาติ ที่สุด…ว่ากันว่าได้รสชาติที่ไม่ต่างจากเนย
อาหาร (ทดแทน) แห่งอนาคต?
ในความเป็นจริง แนวคิดเรื่องอาหารทดแทนที่ไม่ใช้เกษตรกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยครั้งนั้นอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหาร นักเคมีชาวเยอรมันจึงคิดวิจัยและประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์เนยเทียมจากถ่านหิน สำหรับปรุงอาหารให้กับพลเมืองและทหารเยอรมัน แต่ในภายหลังมีการตั้งคำถามมากมาย เช่น การถามหาข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นต้น
ตัดภาพกลับมายังปัจจุบัน ด้วยเหตุผลของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และอื่นๆ ในยุคที่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปชนิดที่แทบไม่สามารถเรียกคืนมาได้ อาหารสังเคราะห์จึงได้รับการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง
อดีตซีอีโอไมโครซอฟท์ บอกว่า แนวคิดในการเปลี่ยนมาใช้ไขมันและน้ำมันที่ผลิตในห้องปฏิบัติการอาจดูแปลกในตอนแรก แต่ศักยภาพในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นมีมหาศาล ด้วยการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว เราจะเข้าใกล้การบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศไปอีกก้าวหนึ่ง
“กระบวนการนี้ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด ไม่ใช้พื้นที่เพาะปลูก ใช้น้ำน้อยกว่าหนึ่งในพันของเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม และที่สำคัญที่สุด มีรสชาติดีมาก เหมือนของจริง เพราะในทางเคมีมันเป็นอย่างนั้น” บิล เกตส์ บอก
ขณะที่ Savor บอกเหตุผลที่มุ่งการวิจัยที่เนยเป็นอันดับแรกว่า ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันเชิงพาณิชย์ เพราะราคาที่สูงทำให้การแข่งขันด้านต้นทุนทำได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ในระหว่างการรออนุมัติผลิตออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าน่าจะราวปี 2025
ส่วนสถานีต่อๆ ไปเราอาจได้อร่อยแบบบไม่ทำร้ายโลกกับ นม ไอศกรีม ชีส หรือแม้กระทั่งเนื้อสัตว์ ตามที่สตาร์ทอัพรายนี้ตั้งเป้า
สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่