ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตของไทยด้วยห่วงโซ่แห่งคุณค่า หุ่นยนต์โคบอทพร้อมหนุนเพิ่มประสิทธิภาพ

Share

 

แม้ตัวเลขการจ้างงานจะมีมากกว่า 6 ล้านตำแหน่งและมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยคิดเป็นสัดส่วนถึง 34% ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ประจักษ์ชัดในขณะนี้ก็คือ ภาคการผลิตของไทยกำลังอยู่ในช่วงขาลง จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของประเทศลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่เก้าในเดือนมิถุนายน 2566 โดยลดลง 5.24% เมื่อเทียบกับปี 2565

ข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้กระทรวงอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า MPI ของประเทศจะลดลงตลอดทั้งปี 2566 ซึ่งตรงกันข้ามกับอัตราการเติบโต 0-1% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ การที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญส่งผลให้กระทรวงการคลังได้ปรับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจลงเหลือ 3.5% จากเดิม 3.6% และเนื่องจากการผลิตถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน

แม้ว่านโยบายและความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะถูกลดทอนลง     แต่ยังมีแนวทางแก้ไขอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถช่วยบรรดาผู้ผลิตเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพการดำเนินงานด้วยการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาปรับใช้ภายในองค์กร

 

ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต

อุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยแรงงานที่มีทักษะเป็นหลัก ซึ่งข้อเสียของแรงงานที่มีทักษะคือต้นทุนแรงงานที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งซึ่งกำลังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจจากการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีอัตราการรู้หนังสือในระดับสูง โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ประมาณ 100,000 คนต่อปี และเมื่อข้อมูลประชากรเกิดการเปลี่ยนแปลง พนักงานรุ่นใหม่จึงเลือกที่จะมองหางานที่ให้ผลตอบแทนทางจิตใจมากกว่าเดิม

เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ระบบอัตโนมัติจึงถูกมองว่าเป็นโซลูชันสำหรับการผลิตที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ (E/E) รวมถึงอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารด้วย คำว่า “ระบบอัตโนมัติ” (Automation) ครอบคลุมถึงหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน (โคบอท) ซึ่งเป็นระบบแขนหุ่นยนต์ขนาดเล็กที่มาพร้อมมือจับขนาดใหญ่

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าโคบอทได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก และคาดว่าจะมีการใช้งานในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากประโยชน์ที่มากมาย ซึ่งรวมถึงการลดต้นทุนการผลิตในขณะที่สามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้แม้ว่าพื้นที่การผลิตจะมีขนาดเล็กก็ตาม  การนำโคบอทเข้ามาใช้งานทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราการเติบโตต่อปีที่ 32 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2566 ถึง 2573 และเมื่อเปรียบเทียบกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะพบว่า โคบอทมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ใช้พื้นที่น้อยกว่า และใช้พลังงานน้อยกว่า

โคบอทและประโยชน์ที่ได้รับ

ประการแรก โคบอทนำเสนอโซลูชันที่ยืดหยุ่นซึ่งเหมาะกับโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อใช้โคบอท ผู้ผลิตจะได้รับโซลูชันอัตโนมัติที่สามารถปรับขนาดได้ตามความต้องการของตลาด ทำให้ได้โซลูชันแบบครบวงจรที่พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของภาคการผลิตได้อย่างแท้จริง “หากจำเป็น โคบอทตัวเดียวก็สามารถตั้งโปรแกรมและปรับใช้งานใหม่เพื่อรองรับการทำงานได้อย่างหลากหลาย” นายธนกฤต ธานีรัตน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท กล่าวและว่า “ด้วยขนาดที่กะทัดรัดและมีน้ำหนักเบา จึงสามารถเปลี่ยนลักษณะการทำงานได้โดยไม่รบกวนพื้นที่หรือสถานีงานที่มีอยู่เดิม” โคบอทสามารถทำงานได้ทุกอย่างตั้งแต่การปั๊มโลหะและการทดสอบ ไปจนถึงการตรวจสอบคุณภาพและการทำงานร่วมกับเครื่องจักร โคบอทยังสามารถช่วยในการจัดการวัสดุที่มีน้ำหนักมากและมีจำนวนหลายชิ้นส่วนโดยไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานที่มีอยู่เดิมแต่อย่างใด

นายธนกฤต ธานีรัตน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท

Universal Robots

นอกจากนี้ โคบอทยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการเพิ่มศักยภาพของแรงงานมนุษย์ด้วย โดยปกติแล้ว ผู้ปฏิบัติงานต้องสลับสับเปลี่ยนความรับผิดชอบในการทำงานอยู่เสมอ และต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่างานทั้งหมด

ตั้งแต่งานธรรมดาไปจนถึงงานที่ซับซ้อนและในบางครั้งก็เป็นอันตราย เช่น การขนย้ายของหนักในการจัดเรียงบนพาเลทและความร้อนสูงในการเชื่อม หรือการสัมผัสกับสารเคมีอันตรายจะได้รับการตอบสนอง

การนำโคบอทเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงานดังกล่าว ถือเป็นการช่วยให้มนุษย์สามารถทำงานที่ธรรมดา อันตราย และซ้ำซากให้สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว “ในโรงงานผลิต โคบอทถูกออกแบบมาเพื่อทำงานร่วมกับแรงงานมนุษย์อย่างเรา” นายธนกฤตกล่าวและว่า “โคบอทช่วยให้เรามีเวลาไปดูแลรับผิดชอบงานที่มีความซับซ้อนและต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในการทำงานที่มากขึ้น และในขณะเดียวกันก็ยังได้มอบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับคนงานเพิ่มมากขึ้นด้วย” สิ่งนี้เป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่น่าสนใจที่สุดของระบบอัตโนมัติที่นำมาใช้ในการทำงานร่วมกัน เนื่องจากการทำงานที่ซ้ำซากจำเจนั้นหาคนมาทำยากขึ้นทุกขณะ

ในทางกลับกันการนำโคบอทมาใช้งานนั้นสามารถเพิ่มความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานได้อย่างมาก ช่วยลดการทำงานที่น่าเบื่อและอันตราย อีกทั้งยังช่วยให้พวกเขาสามารถมุ่งเน้นไปที่งานที่มีคุณค่าและมีความหมายมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ยากที่จะทำให้สำเร็จเนื่องจากภาระงานที่ค้างคาอยู่เป็นจำนวนมาก การได้รับความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้นย่อมส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิตที่จะต้องมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน

สำหรับประโยชน์หลักอีกประการของโคบอทคือความสามารถในการปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โคบอทสามารถกำจัดข้อผิดพลาดของมนุษย์ในขณะที่รับประกันความสม่ำเสมอและความแม่นยำ อีกทั้งยังสามารถจัดการกับกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนมากขึ้นได้ ดังนั้นจึงสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้นภายใต้ต้นทุนที่ต่ำลงได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต่างต้องการ “ด้วยความช่วยเหลือจากโคบอท บรรดาผู้ผลิตจะสามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้และดำเนินการผลิตต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายธนกฤตกล่าวเสริม

บริษัท เบนช์มาร์ค (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลว่าส่วนงานการประกอบอัตโนมัติและการทดสอบสายการผลิตด้วย      โคบอทสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพผลผลิต ความพึงพอใจของลูกค้า และเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นอนาคตได้อย่างชัดเจน โดยบริษัทได้ติดตั้งโคบอท UR5 4 ตัวและ UR10e 2 ตัวในสายการผลิต ซึ่งโคบอทเหล่านี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานได้ถึง 25%

อนาคตภาคการผลิตของประเทศไทย

โคบอทมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงภาคการผลิตของประเทศไทยด้วยความสามารถในการปรับปรุงผลผลิต คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และความพึงพอใจของพนักงาน เมื่อมีการนำโคบอทมาใช้งานเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยจะสามารถวางตำแหน่งตัวเองในฐานะผู้นำด้านการผลิตขั้นสูงและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น

“การใช้โคบอทไม่ได้เข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับคนทำงาน” นายธนกฤตกล่าวและว่า “โคบอทช่วยให้มนุษย์สามารถมุ่งเน้นไปที่งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ และทักษะการแก้ปัญหา อีกทั้งยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตด้วยความแม่นยำของหุ่นยนต์”

ความสามารถที่ยืดหยุ่นของโคบอทในการทำงานร่วมกับแรงงานมนุษย์ การปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ และการเพิ่มผลผลิต ทำให้โคบอทเป็นสินทรัพย์ที่ภาคการผลิตของไทยไม่ควรมองข้าม

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles