พลวัตเศรษฐกิจดิจิทัล: ความเสี่ยง และโอกาสธุรกิจ ตลาดแรงงาน ความสามารถในการแข่งขันและความเป็นธรรม

Share

 

จากข้อมูลผลสำรวจความคิดเห็นของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) และ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กส่วนใหญ่คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะแย่ลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อย มีการเตรียมการปรับตัวต่อเศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในระดับต่ำ เนื่องจากไม่ตระหนักถึงความสำคัญว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่มีเงินทุนสำหรับลงทุน บางส่วนขาดสภาพคล่องทางการเงิน ปัจจัยที่ผู้ประกอบการคิดว่ามีผลกระทบต่อการลงทุนในปี 2568 มากเป็น 3 อันดับแรก คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และเสถียรภาพทางการเมือง

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน การค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวต่อว่า ในส่วนของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทางคณะเศรษฐศาสตร์ และ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยมองไปในทิศทางเดียวกันว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 2.5-3% ซึ่งเป็นระดับการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพ ไม่ได้เป็นสภาวะที่จะทำให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนมากนัก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยและต้นทุนทางการเงินยังสูงสร้างแรงกดดันต่อภาคธุรกิจที่มีโครงสร้างทางการเงินอ่อนแอ มีสัดส่วนหนี้สินสูงเมื่อเทียบกับทุน อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลต่อปัจจัยเหล่านี้มีทิศทางดีขึ้นในกิจการที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน เช่น ภาคการท่องเที่ยว ภาคเกษตรกรรมและอาหาร เป็นต้น 

อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกนั้นเติบโตประมาณ 3 เท่าของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจากการประเมินของ Digital Cooperation Organization การคาดการณ์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 3.3% จึงประมาณการเบื้องต้นได้ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของโลกจะขยายตัวในระดับเกือบ 10% และ สัดส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลเทียบกับจีดีพีโลกเพิ่มขึ้นตามลำดับ ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 21% ของจีดีพีโลก การไม่เตรียมพร้อมของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ภาครัฐการ ภาควิชาการและภาคแรงงาน จะทำให้ประเทศไทยโดยรวมสูญเสียโอกาสและตกขบวนของการพัฒนาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากติดกับดักรายได้ระดับปานกลางมาหลายทศวรรษ แต่สิ่งที่น่าห่วงไม่ใช่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หรือบรรษัทข้ามชาติของไทย ที่น่าห่วง คือ SMEs ภาควิชาการและภาคแรงงาน ที่ทำให้เกิดปัญหาสะสมทั้งในมิติความสามารถในการแข่งขันและความเป็นธรรม ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีโดยเฉพาะเอไอจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งไทย อย่างไรก็ตาม เกิดการขึ้นของเอไอราคาถูกจากจีนช่วยลดปัญหาการผูกขาดในธุรกิจอุตสาหกรรมเอไอได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่หมดไป

พลวัตเศรษฐกิจดิจิทัลเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2568-2570 จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดมากกว่าเดิมภายใต้การแข่งขันทางเทคโนโลยีของกลุ่ม G-8 โดยเฉพาะระหว่างสองมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาและจีน ห่วงโซ่อุปทาน ภาคการผลิตและการบริการเทคโนโลยีชั้นสูงจะมีการแยกส่วนมากขึ้นจากการกีดกันและการแข่งขันกัน ทั้งที่การบูรณาการจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติโดยรวมมากกว่า 

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันอย่างรุนแรงสามารถแรงกดดันให้สองมหาอำนาจต้องสร้างระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีชั้นสูงที่พึ่งพาตัวเองมากขึ้น พึ่งพาระหว่างกันน้อยลง เทคโนโลยีสูงถูกใช้เพื่อกิจการทางด้านความมั่นคงความปลอดภัย การใช้เพื่อการสอดแนม การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยี มีการลงทุนเทคโนโลยีเพื่อกิจการป้องกันประเทศและทางการทหารเพิ่มขึ้น อันไม่เป็นผลดีต่อสันติภาพของโลกและคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติ 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชั้นสูงควรถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อประโยชน์ต่อมนุษยชาติ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเพิ่มผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจ หากองค์กร ประเทศ หรือ ผู้คน ต้องใช้เงินหรืองบจำนวนมากเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงทางไซเบอร์ การเจาะระบบความมั่นคงทางไซเบอร์เพื่อวัตถุประสงค์อันเลวร้าย เพื่อทำลายล้าง ไม่ใช่เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ย่อมทำให้ระบบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ถูกรวมศูนย์และสร้างอำนาจผูกขาดให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคไม่กี่บริษัท ย่อมทำให้ความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยมโลกรุนแรงมากยิ่งกว่าเดิม 

การพัฒนาและสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเข้าถึงเทคโนโลยีต้องกระจายศูนย์มากกว่าเดิม และ ต้องลดอำนาจผูกขาดทางเทคโนโลยีของบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทค Magnificent 7 (Apple Inc. – AAPL, Microsoft Corp.- MSFT, Amazon Inc. -AMZN, Alphabet – Googl, Meta Platform – META, Nvidia Corp – NVDA) แม้นจะสัญญาณของฟองสบู่ของราคาหุ้นของ 7 บริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคเหล่านี้เกิดขึ้น แต่ในแง่โครงสร้างของตลาดของเศรษฐกิจดิจิทัลและสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง 7 บริษัทยังคงมีอำนาจทางนวัตกรรมและการตลาดในการขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดและระบบเศรษฐกิจ และ ผลประกอบการทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทเหล่านี้ยังอยู่ในระดับดีมาก และยังคงมีการลงทุนจำนวนมหาศาลทางด้านนวัตกรรมและการสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ฉะนั้น อำนาจผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดจะอยู่ไปอีกไม่ต่ำกว่าสองทศวรรษ ภายใต้การกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐอเมริกาต่อบริษัทไฮเทคของจีนหรือชาติอื่นๆ การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) จะเกิดขึ้นในอัตราเร่งมากยิ่งกว่าเดิม

ในปี 2568 มีพลวัตเทคโนโลยีหลายอย่างต้องติดตามเป็นพิเศษและจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ได้แก่ Agentic AI (Multimodal AI), Synthetic Media, Extended Reality, Neuromorphic Computing, Nuclear Power for AI Infrastructure, Micro LLMs (Generative AI for SMEs), Post-Quantum Cryptography, Hybrid Computer Systems, Spatial Computing, Ambient Invisible Intelligence

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในช่วง 3 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2568-2570 ที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องระบบเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน ระบบการศึกษา ระบบกำกับดูแลและกฎหมาย ได้แก่ 1. กลุ่มความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีรถยนต์และการขนส่งคมนาคม รถยนต์ EV รถยนต์ไร้คนขับ รถยนต์บินได้ รถไฟไฮเปอร์ลูปโดยแคปซูลลอยตัวเหนือรางด้วยพลังแม่เหล็กไฟฟ้า (อาจเป็นระบบขนส่งทางรางที่มีความเร็วมากกว่า 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) อย่างไรก็ตาม บริษัท Hyperloop One สตาร์ทอัพเจ้าแรกที่นำเสนอแนวคิดระบบรางแห่งอนาคตได้ปิดกิจการไปและ “ทรัพย์สินทางปัญญา” ได้ถูกโอนย้ายไปยัง DP World บริษัทขนส่งที่รัฐบาลดูไบถือหุ้นใหญ่

2.Distributed Web-based System ระบบเว็บแบบกระจายศูนย์ เทคโนโลยีนี้จะลดอำนาจผูกขาดทางด้านข้อมูลจากระบบเว็บรวมศูนย์ (Centralized Web-based System) และ สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจและเศรษฐกิจ รวมทั้งการทำธุรกรรมทางการเงิน การติดต่อสื่อสารแบบสื่อสังคมออนไลน์จะเปลี่ยนแปลงไป พัฒนาการทางเทคโนโลยีในส่วนนี้เกิดจากเทคโนโลยีบล็อคเชน เทคโนโลยีบล็อคเชนเป็นพื้นฐานของการทำงานที่ทำให้เกิดการเงินแบบกระจายศูนย์ (Defi-Finance) ซึ่งจะแตกต่างจากระบบธนาคารแบบดั้งเดิม เช่น อีเธอเรียม บิทคอย เป็นต้น การแลกเปลี่ยนแบบกระจายศูนย์ (DEX) เมื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนในภาคการเงินอย่างคริปโตเคอเรนซีช่วยสามารถทำให้เกิดการทำธุรกรรมแบบ Peer-to-Peer ได้ ตัดคนกลาง (สถาบันการเงินแบบเดิม) ออกไป ทำให้แตกต่างจากการแลกเปลี่ยนแบบรวมศูนย์ (CEX) หรือ อย่าง Swarm เป็น ระบบการเก็บรักษาไฟล์ข้อมูลต่างๆแบบกระจายศูนย์ไม่เก็บไว้ที่ใดที่หนึ่ง หรือ อย่าง Mastodon และ Fediverse เป็น สื่อสังคมออนไลน์แบบกระจายศูนย์ โดยเราสามารถ Upload VDOs เก็บรักษาและแชร์กับเพื่อนๆได้โดยเครือข่ายส่วนตัว หรือ OpenBazaar เป็น Distributed Marketplace

การเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการเงิน เทคโนโลยียานยนต์ เทคโนโลยีเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีก เทคโนโลยีเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคม ในไทย จะเป็นเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการและตลาดแรงงานมากที่สุด ผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้ต่อการเปลี่ยนแปลง และ ลงทุนได้อย่างเหมาะสม จะมีผลิตภาพและผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะยาวโดยอาศัยแรงงานมนุษย์ โดยผู้ประกอบการมากกว่า 70% ยังไม่มีแผนการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ในปี 2568 แต่ผู้ประกอบการบางส่วนมีแนวโน้มลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะภาคการค้าระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยว 

เหตุผลสำคัญที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่ลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ ในปี 2568 ได้แก่ ไม่มีแผนเปลี่ยนแปลงการใช้เทคโนโลยี ส่วนผู้ประกอบการขนาดย่อยให้เหตุผลว่าขาดเงินทุนและไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจดิจิทัลในปี 2568 ยังเป็นเรื่องเดิมๆ บางเรื่องอาจจะเพิ่มมากขึ้นหากประเทศไหนไม่เตรียมการหรือละเลย เช่น Data Privacy ความเสี่ยงจากการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้น Ethical Issues ความเสี่ยงทางด้านจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ เรื่องนี้อาจปรับเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ จากการผ่อนคลายกฎระเบียบของรัฐบาลทรัมป์  AI Governance การกำกับควบคุม ระบบกฎหมายที่เหมาะสมมีความสำคัญเพิ่มขึ้น Cybersecurity ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จะเป็นประเด็นอ่อนไหวและถูกนำมาใช้ต่อสู้กันในความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจและการทหารมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางที่มี Good Governance ในการกำกับ   

ประเทศและสังคมที่มีการเตรียมพร้อมที่ดี จะได้รับโอกาสมหาศาลจากเศรษฐกิจดิจิทัล ความก้าวหน้าเทคโนโลยีโดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ โดยโอกาส ความเสี่ยงและความวิตกกังวลจากระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลสามารถพิจารณาตามลักษณะดังต่อไปนี้   

ประการแรก การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลันและผันผวนเกิดขึ้นตลอดเวลา การบริหารความเสี่ยงและความเร็วในปรับตัวต่อพลวัตเป็นเรื่องสำคัญ ความเสี่ยงและความวิตกกังวลในอนาคตที่มีพลวัตสูงและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนกระทั่งต่อมีผลต่อกิจการ การดำเนินชีวิตและพฤติกรรมผู้บริโภค ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วย่อมได้รับผลกระทบอย่างมาก ขณะที่ผู้ที่สามารถปรับตัวได้ และ สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ Generative AI จะเกิดโอกาสอย่างมากในทางธุรกิจ สร้างงานใหม่ สร้างนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นมากมายและเปลี่ยนแปลงสังคมและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่างๆจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างมหาศาล พร้อมกับความเหลื่อมล้ำของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่จะพร้อมขึ้นอย่างมากหากไม่มีการกฎระเบียบหรือระบบภาษีที่เท่าทันต่อพลวัตเหล่านี้     

ประการที่สอง เทคโนโลยีเอไอจะเพิ่มผลิตภาพและผลผลิตอย่างมหาศาลโดยใช้แรงงานมนุษย์น้อยลง ความเสี่ยงและความวิตกกังวัลของแรงงานมนุษย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สมองอัจฉริยะเอไอจะส่งผลต่อโครงสร้างของตลาดแรงงานมากขึ้นตามลำดับ กิจการจำนวนมากเริ่มนำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต อย่างเช่น หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ และ อาจส่งผลให้เลิกจ้างงานพนักงานจำนวนมากโดยเฉพาะงานผลิตซ้ำต่างๆที่มูลค่าต่ำ แต่ก็ไม่ใช่ทุกตำแหน่งจะเผชิญกับความเสี่ยง ด้วยเทคโนโลยีเดิมก่อนการเกิดขึ้นของ Generative AI งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ยังไม่สามารถนำระบบอัตโนมัติหรือ AI มาใช้แทนได้มากนัก แต่ในอนาคตจะทดแทนได้มากขึ้น ความเสี่ยงเรื่องนี้จะกระทบต่อประเทศไทยไม่มากเนื่องจาก ไทยจะมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่จะมีคนบางกลุ่มไม่มีทักษะมากพอในการทำงานในระบบการผลิตแบบใหม่ ซึ่งภาครัฐต้องทำการ Upskill และ Reskill อย่างมียุทธศาสตร์และเป็นระบบ นอกเหนือจากการดำเนินการผ่านระบบการศึกษาที่เป็นทางการ 

ประการที่สาม ความเสี่ยงต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและประเด็นเรื่องความมั่นคง สื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีทางด้านข้อมูลสามารถรวบรวมข้อมูลลูกค้า ประวัติการทำธุรกรรมต่างๆอย่างละเอียด พฤติกรรมในการใช้ชีวิต การบริโภคสินค้าและการใช้บริการ ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาสร้างโปรไฟล์และอัลกอริทึมคาดการณ์เพื่อเข้าพฤติกรรมในอดีตและอนาคตของผู้บริโภค ผู้บริโภคบางคนมองว่าศักยภาพของ AI เป็นเหมือนเครื่องมือที่เปิดให้ปรับเปลี่ยนบริการและสินค้าตามความต้องการเฉพาะบุคคล(Personalization)จำนวนมากๆได้พร้อมกัน เรียกว่า สามารถทำ Mass Customization ได้นั่นเอง 

ประการที่สี่ วิถีชีวิตแบบดิจิทัลและผลข้างเคียงเชิงพฤติกรรม สังคมและเศรษฐกิจแบบดิจิทัลทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพกันลดลง แอฟพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย และ เกมเสมือนจริงต่างๆ กระตุ้นความสนใจและช่วยให้ผู้คนในสังคมมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องจนผู้ใช้อยู่กับหน้าจอวันละหลายชั่วโมง ทำให้การปฏิสัมพันธ์แบบพบปะสังสรรค์แบบดั้งเดิมลดลง การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง มีพฤติกรรมเสพติดสื่อสังคมออนไลน์และอยู่หน้าจอนานเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพและขาดการทำกิจกรรมอย่างอื่นในชีวิต ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้กิจกรรมประจำวันสะดวกยิ่งขึ้นและออกแรงน้อยลงไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อของใช้ให้ส่งถึงบ้านไปจนถึงเดินทางโดยอาศัย Google Map ขณะเดียวกันเป็นผลให้คนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปจนทำให้เกิด สิ่งที่เรียกว่า AI and Automation Bias ขึ้นได้ในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆทั้งการบริหารกิจการและในชีวิตประจำวัน

ประการที่ห้า สื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ก้าวเข้าแทนที่สื่อแบบดั้งเดิม สื่อใหม่เหล่านี้สามารถกุมอำนาจกำหนดมุมมองและสร้างกระแสความคิดที่มีอิทธิพลทางสาธารณะได้ เทคโนโลยีสื่อดิจิทัล และ Generative AI ที่สามารถเลียนเสียง หน้าตาและพฤติกรรมของบุคคลได้อย่างสมจริงจะทำให้เราแยกข้อเท็จจริงกับเรื่องลวงได้ยากขึ้น การให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือการบิดเบือนข้อมูลสามารถเกิดขึ้นได้และดูสมจริงอย่างยิ่งซึ่งเรียกกันว่า Deep Fake ความสามารถของเทคโนโลยี AI ช่วยให้ปลอมเสียงและวิดิโอเหมือนเป็นของจริง เราต้องหาวิธีในการปัญหาและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับ Deep Fake เหล่านี้ การส่งต่อ ข่าวปลอม (Fake News) เกิดขึ้นได้ง่าย โดยทางยูเนสโก (UNESCO) ได้จำแนกออกมาว่า ประกอบไปด้วย ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) เป็นข้อมูลข่าวสารเท็จที่จงใจสร้างขึ้น ข้อมูลผิด (Misinformation) เป็นข้อมูลผิดผลาดไปเองโดยไม่ได้ตั้งใจบิดเบือนซึ่งอาจเกิดจากความผิดผลาดในการแสวงหาข้อมูลมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย (Malinformation) เป็นข้อมูลข่าวสารลวง สร้างขึ้นมาจากพื้นฐานข้อมูลจริงบางอย่าง เจตนาของข้อมูลแบบ Disinformation ก็ดี ข้อมูลแบบ Malinformation ก็ดี ล้วนจงใจสร้างขึ้นเพื่อโจมตีใส่ร้ายทำลายเป้าหมายให้เกิดความเสียหาย

ประการที่หก การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจแบบดิจิทัลทำให้เกิดการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลของบุคคลจำนวนหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จากสภาวะดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างแพลตฟอร์มและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกรรม การดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ การลงทุนต่างๆโดยไม่ถูกจำกัดโดยพรมแดนของรัฐชาติ ไม่ถูกจำกัดโดยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และสามารถเสนอบริการหรือผลิตสินค้าข้ามกิจการอุตสาหกรรมต่างๆได้ ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ จากงานวิจัยของ Goldman Sacks มีการประเมินเบื้องต้นบ่งชี้ว่า

ประการที่เจ็ด เกิดข้อมูลมหาศาลและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ข้อมูลขนาดใหญ่และฐานความรู้ดิจิทัลเร่งให้เกิดการเรียนการสอนออนไลน์ หรือ MOOC (Massive Open Online Courses) เติบโตอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง และสามารถให้ AI วางแผนการอบรมออนไลน์และช่วยสอนได้ แพลตฟอร์มดิจิทัลและระบบนิเวศเปลี่ยนโฉมการดำเนินธุรกิจ โดยทำให้ฝ่ายต่างๆ ได้แก่ บริษัทลูกค้า และ ผู้มีส่วนได้เสียอื่นเชื่อมต่อกันสนิทและทำให้การสื่อสารและการทำธุรกรรมไม่มีขีดจำกัดลดลงอย่างมาก

ประการที่แปด ชีวิตที่สุขสบายขึ้น ชีวิตอัจฉริยะ และยืนยาวขึ้น Neuralink โครงการของ อีลอน มัสก์ พัฒนาการฝังชิปคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างการเชื่อมต่อระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ทำให้มนุษย์ใช้สมองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด บ้านอัจฉริยะและสำนักงานอัจฉริยะทำให้ชีวิตของมนุษย์สะดวกสบายขึ้นอย่างมาก ขณะที่ เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาว เมื่อนำข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้กับด้านสุขภาพช่วยให้ AI ค้นพบยาชนิดใหม่และการรักษาที่แม่นยำ ความรู้ทางด้านพันธุกรรมขั้นสูงและโครงสร้างยีน ทำให้มนุษย์ปรับแต่งโครงสร้างยีนเพื่อป้องกันและรักษาโรคพันธุกรรมได้ ประสาทเทคโนโลยีและสมองกลทำให้รักษาภาวะความบกพร่องของสมองได้

ประการที่เก้า การเพิ่มความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล หรือ Digital Transformation เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบ Smart Grid  และพลังงานหมุนเวียนทำให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานและมีการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในภาคอุตสาหกรรม AI ช่วยลดการสูญเสียตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การเลือกวัสดุ ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจแบบแบ่งปันได้ง่ายขึ้นภายใต้เทคโนโลยีใหม่

นโยบาย Digital Economy ควรมีเป้าหมายในระดับประเทศที่ชัดเจน ได้แก่ การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่ง GDP ที่จะเพิ่มได้นั้น ไม่ได้เกิดจากที่รัฐเป็นผู้ให้บริการ แต่รัฐต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ (Product and Service) ที่อยู่บนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลดังกล่าว ดังนั้น นโยบาย Digital Economy จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะต้องคิดและเขียนออกมาให้ได้ตรงตามเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การเพิ่ม GDP ให้กับประเทศไทย และการทำให้เกิดความยั่งยืน (Sustainability) ในระยะยาว นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่อาจทำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ดั้งเดิมสามารถล่มสลายเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นต้องหามาตรการรองรับความท้าทายและความเสี่ยงตรงนี้  

นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยี: ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรหากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นมาโดยมีเป้าหมายต้องการให้เศรษฐกิจก้าวหน้าและเติบโต ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างมียุทธศาสตร์

ควรมีการปฏิรูประบบแรงงานรับมือสมองกลอัจฉริยะ หรือ AI และเพิ่มความเป็นธรรมและความสามารถแข่งขัน  ท่ามกลางพลวัตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล  นายจ้างกับลูกจ้างสามารถตกลงวันและเวลาในการทำงานจากที่บ้านหรือ “Work from home” ได้มากขึ้น สามารถทำงานผ่านระบบเทคโนโลยีจากที่ไหนก็ได้ และแม้ว่าจะไม่ได้เข้าทำงานที่ออฟฟิศ ลูกจ้างก็ต้องได้รับเวลาพัก รวมถึงค่าจ้างในการทำงานล่วงเวลาหรือ “โอที” ตามปกติ และที่สำคัญ เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานในแต่ละวันแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธการติดต่อคุยงาน ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์สื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โปรแกรมแชตหรือโทรศัพท์ก็ตาม โดย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขล่าสุดได้ปรับปรุงให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การทำงานในโลกยุคดิจิทัลมากขึ้น 

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ จักรกลอัตโนมัติจะทำให้อาชีพและตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปแบบพลิกโฉม จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาเรียนรู้ ระบบพัฒนาทักษะ และ ระบบแรงงานทั้งระบบเพื่อให้ แรงงานมนุษย์สามารถทำงานร่วมกับ AI และ ระบบหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น และ หลายอย่างสมองกลอัจฉริยะหรือ AI สามารถทำงานได้ดีกว่าแรงงานมนุษย์และเสริมการทำงานของมนุษย์ เช่น การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ซึ่งเป็นงานเฉพาะและมีความแม่นยำสูงกว่าที่มนุษย์จะทำได้ และ สามารถช่วยการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้นได้ ระบบ Software คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณประกอบกับการใช้ Big Data และ Machine Learning สามารถทำงานทางด้านการวิเคราะห์ การคำนวณ การประเมินการลงทุน การศึกษา การวิจัย ได้อย่างดี เป็นต้น 

ควรยกเลิกแนวทางการพัฒนาหรือยุทธศาสตร์ค่าแรงถูกเพื่อดึงดูดการลงทุน การกดค่าแรงขั้นต่ำเพื่อดึงดูดการลงทุนเป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสำหรับประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ประชากรวัยหนุ่มสาวไม่มากและเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในหลายกิจการ แต่เสนอให้ใช้ผลิตภาพแรงงานสูงแข่งขัน การลงทุนทางด้านนวัตกรรมแข่งขัน ความโปร่งใสปลอดคอร์รัปชันดึงดูดการลงทุน เสถียรภาพทางการเมือง ความต่อเนื่องและคงเส้นคงวาของนโยบายดึงดูดการลงทุน รวมทั้ง ใช้มาตรฐานระบบนิติรัฐที่ดี โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีดึงดูดการลงทุน ต้นทุนการเงินต่ำ และเข้าถึงแหล่งทุนง่ายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน 

เทคโนโลยีใหม่ๆทั้งหลายภายใต้เศรษฐกิจแบบดิจิทัลสามารถทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและการแบ่งขั้วในสังคมเพิ่มขึ้นก็ได้ ลดลงก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้ไปในทางไหนและด้วยการกำกับดูแลทั้งทางนโยบายอย่างไร หรือ กลไกตลาดในระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปอย่างไร การประชุมสุดยอดทางด้านเอไอล่าสุดที่กรุงปารีส ได้เห็นความแตกต่างระหว่างแนวทางและนโยบายที่ต่างกันพอสมควร ระหว่าง การเปิดเสรีและผ่อนคลายกฎระเบียบภายใต้รัฐบาลทรัมป์และการกำกับความเสี่ยงเข้มงวดแบบยุโรปบางประเทศ  

ทุนนิยมโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมีผลทำให้เกิดการแบ่งขั้วด้านอาชีพมากขึ้น อัตราการเติบโตของค่าตอบแทนระหว่างผู้บริหารระดับสูง กับ อัตราการเติบโตของค่าตอบแทนของคนงานทั่วไปถ่างกว้างมากขึ้นทุกวัน เช่นเดียวกับแรงงานที่มีทักษะทางด้านดิจิทัล และ แรงงานที่ไม่มีทักษะในเรื่องดังกล่าว ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทำให้บรรษัทข้ามชาติเครื่องย้ายฐานงานทักษะต่ำเกือบทั้งหมดไปยังดินแดนที่มีแรงงานทักษะต่ำจำนวนมากและมีค่าแรงถูก เศรษฐกิจดิจิทัลมีการนำเทคโนโลยีและระบบเครื่องจักรอัตโนมัติมาแทนที่แรงงานมนุษย์ที่ทำงานแบบซ้ำๆโดยไม่ต้องใช้ทักษะ การแบ่งขั้วทางด้านอุดมการณ์ความคิดและวิถีชีวิตอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ขึ้นอยู่กับมีการใช้เทคโนโลยีไปในทิศทางใด

เมื่อเราพูดถึงความเหลื่อมล้ำ เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องช่องว่างดิจิทัล เนื่องจาก “ช่องว่างดิจิทัล” จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลง เวลาเราพูดถึง ช่องว่างดิจิทัล เรามักหมายถึง ช่องว่างระหว่างกลุ่มที่เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลกับกลุ่มที่เข้าไม่ถึง ความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่สะท้อนความสามารถทางการเงิน ฐานะทางเศรษฐกิจ ทักษะและศักยภาพของบุคคลที่แตกต่างกันอีกด้วย เราจึงเห็นความแตกต่างของการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศด้อยพัฒนา ระหว่างพื้นที่ในเมืองใหญ่กับชนบท ความไม่สามาถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ทำให้เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพ การศึกษา ข้อมูลข่าวสารและโอกาสทางเศรษฐกิจต่างๆ ความไม่เท่าเทียมใน การเข้าถึง การใช้ และผลกระทบจาก เทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสารของผู้คน ตั้งแต่อดีตจนก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลในระยะต่อมา ทำให้ความไม่เท่าเทียมนี้ถูกเรียกในภายหลังว่า “ช่องว่างทางดิจิทัล” หรือ Digital Divide ซึ่งแปลความให้ง่ายก็คือ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

 

Related Articles