เท่และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม! ญี่ปุ่นสร้าง “ดาวเทียมไม้” ดวงแรกของโลก เปิดประตูบานใหม่ดาวเทียมรักษ์โลก

Share

 

การแข่งขันด้านอวกาศทำให้หลายต่อหลายประเทศต่างส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร เพื่อจับจองพื้นที่และคลื่นความถี่ในอวกาศ เป็นผลให้ขณะนี้มีดาวเทียมที่ใช้งานอยู่โคจรรอบโลกราว 2,000 ดวง

ขณะเดียวกันก็มีดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งานแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 ดวง กระจัดกระจายอยู่ในอวกาศ นอกจากนี้ยังมีวัตถุขนาดใหญ่ เช่น ยานอวกาศที่ปลดระวางแล้ว ชิ้นส่วนเครื่องจักรกลที่เสียหรือเลิกใช้งานแล้ว ฯลฯ ราว 34,000 ชิ้น และเศษชิ้นส่วนขนาดเล็กอีกมากถึง 128 ล้านชิ้น เรียกรวมกันว่า “ขยะอวกาศ”

ขยะอวกาศ ปัญหาชวนกุมขมับ

ประเด็นคือ ยิ่งมีขยะอวกาศมาก ยิ่งเสี่ยงต่อดาวเทียมสำคัญๆ จะถูกพุ่งชน เนื่องจากขยะแต่ละชิ้นไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เคลื่อนตัวด้วยความเร็วสูงเกือบ 29,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ 7 เท่าของความเร็วกระสุนบนโลก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จึงมีความพยายามหาทางกำจัดขยะอากาศเหล่านั้น ไม่ว่าจะคิดค้นแขนหุ่นยนต์แม่เหล็กออกกวาดจับขยะอวกาศทีละชิ้น หรือจัดบุคลากรทำหน้าที่เป็นตำรวจจราจรคอยเฝ้าระวังเตือนภัย

อีกความกังวลใจที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ การสะสมของอะลูมิเนียมในชั้นบรรยากาศ เนื่องจากวัสดุหลักที่ใช้ในการสร้างดาวเทียมคือ อะลูมิเนียม เมื่อเกิดการเผาไหม้จะส่งผลอย่างรุนแรงในการทำลายชั้นโอโซน ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องรังสีอัลตราไวโอเลตให้แก่โลก โดยคาดกันว่าในอนาคตดาวเทียมที่ถูกส่งขึ้นไปในห้วงอวกาศทุกปี จะมีมากถึงปีละกว่า 2,000 ดวง!

การเฟ้นหาวัสดุทดแทนอะลูมิเนียม ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยต้องมีความแข็งแกร่ง น้ำหนักเบา และคงรูปได้ดีแม้อยู่ในสภาวะไร้อากาศ เป็นประเด็นที่พูดถึงแต่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง จนกระทั่ง…

ล่าสุด มีการประกาศความสำเร็จอย่างเป็นทางการกับการสร้าง “ดาวเทียมทำด้วยไม้” ดวงแรกของโลก ที่ได้รับการรับรองจากนาซ่า วัตถุประสงค์เพื่อลดขยะในห้วงอวกาศเมื่อดาวเทียมสิ้นอายุการใช้งานแล้ว

ว่าที่ดาวเทียมดวงใหม่ เท่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ถ้าเป็นงานไม้ ต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นนับว่าฝีมือขั้นเทพ ความที่เป็นประเทศที่มีต้นไม้และไม้ไผ่อุดมสมบูรณ์ จึงนำทรัพยากรเหล่านั้นสรรค์สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่หลายหลาย ทั้งประณีตและสวยงาม ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สั่งสมสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

“ลิกโนแซต” (LignoSat) จึงเป็นเซอร์ไพรซ์ที่ไม่เซอร์ไพรซ์ สร้างขึ้นโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียว และบริษัท Sumitoma Forestry ผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปไม้และการก่อสร้าง เพื่อทดสอบแนวคิดในการใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เช่น ไม้ มาสร้างดาวเทียมแทนโลหะ โดยเลือกใช้ไม้จากต้นแมกโนเลียที่มีความแกร่งที่สุด

ทั้งนี้ หลังจากการทดลองกว่า 10 เดือน ได้ออกมาเป็นดาวเทียมลิกโนแซต ที่ใช้เทคนิคการสร้างงานฝีมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นโดยไม่ต้องใช้สกรูหรือกาวเป็นตัวยึด และเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งาน ยังสามารถเผาไหม้ได้เกือบหมด เหลือเพียงโมเลกุลของสารอินทรีย์และผงคาร์บอน ซึ่งเป็นโมเลกุลที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติสามารถย่อยสลาย จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม ต่างจากดาวเทียมโลหะทั่วไปที่จะปล่อยอนุภาคอะลูมิเนียมออกไซด์เมื่อกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งอนุภาคขนาดเล็กนี้ไม่เพียงจะลอยอยู่นานหลายปี ที่สุดยังส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมของโลกด้วย

มุราตะ โคจิ หัวหน้าโครงการวิจัย บอกว่า รู้สึกประหลาดใจมากต่อศักยภาพของไม้ที่ทนต่อสภาวะเหล่านี้ได้ดี ซึ่งหลังจากการทดสอบได้มีการส่งตัวอย่างดาวเทียมไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อรับการทดสอบให้สัมผัสกับสภาวะในอวกาศจริงเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ก่อนจะส่งกลับมายังโลก พบว่ามีร่องรอยความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะในอวกาศไม่มีทั้งอากาศและความชื้นที่จะก่อความเสียหายกับไม้

อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการทดสอบอีกหลายอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าดาวเทียมนี้จะทำงานได้ดีเมื่อปฏิบัติภารกิจอยู่ในวงโคจร คาดว่าน่าจะมีการปล่อยดาวเทียมลิกโนแซตอย่างเป็นทางการในช่วงฤดูร้อนปีหน้า

หากดาวเทียมลิกโนแซต สามารถทำงานได้ดีในห้วงอวกาศ นั่นหมายความว่าจะเป็นการเปิดประตูบานใหม่ในการสร้างดาวเทียมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม.

สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles