เมืองฉินหวงเต่า หรือ Qinhuangdao เมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ทั้งบันทึกประวัติศาสตร์จีน เมืองพักผ่อนอันชื่นชอบของผู้นำจีน แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่หลายคนค้นหาก็คือ ตำหรับของยาอายุวัฒนะ อันนี้น่าสนใจว่ามีอยู่จริงหรือไม่
ในบรรดาจักรพรรดิจีนที่กล่าวได้ว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งแดนมังกร มีชื่อติดอยู่ในลำดับแรกๆ ในความคิดของคนส่วนใหญ่ ย่อมเป็น “จิ๋นซีฮ่องเต้” ด้วยความอลังการงานสร้างในแง่ของสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าไปพิสูจน์ความยิ่งใหญ่ อย่าง สุสานจิ๋นซีที่เมืองซีอาน เฉพาะกองทัพทหารดินเผา รถม้า ม้าศึก อีกทั้งสรรพาวุธ นับได้มากกว่า 74,000 ชิ้น และยิ่งลืมไม่ได้กับ กำแพงเมืองจีน หนึ่งใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่มนุษย์สร้างขึ้น
จิ๋นซีฮ่องเต้ หรือ ฉินสื่อหวงตี้ เป็นจักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีน ผู้รวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่นเป็นหนึ่งเดียว แล้วสถาปนาราชวงศ์ฉินขึ้นปกครอง (221-206 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นจักรพรรดิผู้ปรีชาสามารถ ทั้งการวางยุทธศาสตร์ต่างๆ การสงคราม การปกครองประเทศ วางรากฐานให้กับสังคมจีนหลายต่อหลายสิ่ง อาทิ กำหนดรูปแบบตัวอักษรจีนเป็นมาตรฐานเดียวกันและใช้มาจนปัจจุบัน
น่าเสียดายที่ในช่วงบั้นปลายชีวิต ความที่ลุ่มหลงมัวเมาในชีวิตอมตะ หลงเชื่อคำลวงของนักพรตจีนลัทธิเต๋า โปรดให้ค้นหาตัวยาเพื่อปรุงเป็นยาอายุวัฒนะ ถึงขนาดมีราชโองการสั่งให้เมืองทุกแห่งทั่วราชอาณาจักรช่วยกันค้นหา ใครที่ออกตามหาแล้วกลับมามือเปล่าจะต้องโทษประหาร
ที่เมือง “ฉินหวงเต่า” เมืองโบราณที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลเหอเป่ย ระยะห่างจากกรุงปักกิ่งเพียงชั่วนั่งรถไฟความเร็วสูงไม่ถึง 3 ชั่วโมง ที่นี่ยังเป็นเมืองตากอากาศสำหรับบุคคลสำคัญตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 อย่าง ซุนยัดเซ็น หลี่ต้าจาว เหมาเจ๋อตง เติ้งเสี่ยวผิง เป็นต้น ล้วนเคยมาพักผ่อนที่นี่กันทั้งนั้น
ปัจจุบันเมืองฉินหวงเต่า นอกจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจีน และยังเป็นเมืองท่าที่สำคัญในเขตทะเลป๋อไห่ เชื่อมต่อระหว่างเขตเศรษฐกิจใหญ่ 2 แห่งคือ เขตเศรษฐกิจหวาเป่ยกับเขตเศรษฐกิจตงเป่ย
ที่นี่ยังเป็นจุดตั้งต้นของกำแพงเมืองจีนที่ยาวกว่า 250 กิโลเมตร ทอดยาวลงสู่ทะเล เป็นปราการทางทะเลที่สำคัญ โดยมีด่านซานไห่กวน ที่ได้รับยกย่องว่าเป็น 1 ใน 3 สิ่งก่อสร้างที่งดงามที่สุดของกำแพงเมืองจีน ทำหน้าที่เฝ้าระวัง
แต่…ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ ฉินหวงเต่า ไม่เพียงได้ชื่อว่าเป็น “เกาะแห่งจักรพรรดิจิ๋นซี” ที่ไม่ได้เป็นเกาะ โดยเสด็จประพาสที่นี่ถึง 5 ครั้ง ไม่เพียงไปเยี่ยนเยือนพสกนิกร ยังเป็นเมืองที่จิ๋นซีฮ่องเต้เสด็จไปตามหายาอายุวัฒนะ!
แล้วยาอายุวัฒนะ มีจริงอยู่ใน Qinhuangdao หรือไม่?
ตามประวัติศาสตร์ เล่าว่า นักพรตจีนลัทธิเต๋าที่หลอกจิ๋นซีฮ่องเต้ บอกว่า ตัวยาสำคัญที่ใช้ประกอบยาอายุวัฒนะอยู่ที่ตรงเกาะศักดิ์สิทธิ์กลางทะเลฝั่งตะวันออกของจีน แต่มีปลายักษ์คอยเฝ้าอยู่ พระองค์จึงให้หาคนธนูมือฉมังคอยดักยิงปลายักษ์ เพื่อว่าจะเปิดทางให้ลงไปค้นหาตัวยา แต่ที่สุดก็ค้นหาตัวยาสำคัญที่ว่าไม่พบ อย่างไรก็ตาม กล่าวกันว่า มีคนเห็นว่ามีปลายักษ์ปรากฏตัวขึ้น แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นปลาอะไร
นอกจากนี้ยังสร้างเรื่องว่า มีภูติผีปีศาจคอยขัดขวางการทำการในทุกสิ่ง แนะให้เวลาจะเสด็จไปที่แห่งใดให้เสด็จอย่างปิดลับ จึงมีการขุดอุโมงค์ใต้ดินแยกเป็นทาง 270 ทาง สำหรับเสด็จไปไหนต่อไหนโดยไม่มีผู้ใดทราบล่วงหน้า เป็นต้น
กลับมาที่ “ยาอายุวัฒนะ” เป็นเรื่องเล่าหรือเรื่องจริง?
สำนักข่าวซินหัวของจีน เคยรายงานการค้นพบบันทึกม้วนไม้ไผ่โบราณ อายุกว่า 2,000 ปี ที่ก้นบ่อน้ำในมณฑลหูหนาน เมื่อปี 2002 ลักษณะเป็นซี่ไม้ไผ่ร้อยด้วยเชือกติดกันเป็นม้วนเพื่อใช้แทนกระดาษ โดยนักประวัติศาสตร์ยืนยันว่า บันทึกเหล่านี้คือราชโองการจากจักรพรรดิองค์แรกของจีน ที่สั่งให้ทั่วราชอาณาจักร แม้กระทั่งหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกลตามแนวชายแดน ให้ช่วยกันค้นหายาอายุวัฒนะ
นอกจากต้นฉบับของราชโองการดังกล่าวแล้ว นักวิจัยยังพบหนังสือตอบถวายรายงานการค้นหายาอายุวัฒนะจากหัวเมืองต่างๆ หลายฉบับด้วย ซึ่งส่วนมากมีเนื้อหาแสดงความอับอายและอึดอัดคับข้องใจของบรรดาขุนนางหัวเมืองที่ไม่สามารถจะค้นหาตัวยาดังกล่าวมาถวายได้
อาทิ หมู่บ้าน “ตู้เซี่ยง” มีหนังสือมากราบทูลรายงานว่า ประสบความล้มเหลวในการค้นหาตัวยามหัศจรรย์ดังกล่าว แต่จะยังคงเดินหน้าค้นหาต่อไปอย่างไม่ลดละ ในขณะที่ “หลังหยา” หมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง ถวายรายงานว่า สมุนไพรที่เก็บจากเขาที่เป็นมงคลแห่งหนึ่งในท้องถิ่นอาจใช้ปรุงยาชีวิตอมตะที่ทรงปรารถนาได้
ความที่หลงได้ใคร่มีในชีวิตที่เป็นอมตะ สร้างทั้งแรงกดดันให้กับเหล่าขุนนาง สร้างความเคียดแค้นให้กับเหล่าประชาชน ตลอด 15 ปีที่บนบัลลังก์มังกรแม้ว่าสงครามจะยุติลง แต่สงครามในใจประชาชนไม่เคยสงบเลย
จิ๋นซีฮ่องเต้สิ้นพระชนม์ในวัย 49 พรรษา กล่าวกันว่าในช่วงใกล้วาระสุดท้าย ดวงพระเนตรที่ไม่หลับ เพราะยังคงเฝ้ารอว่าจะมีคนนำยาอายุวัฒนะมาให้ เชื่อกันว่าเหล่าขุนนางรวมหัวกันวางแผนปรุงยาพิษถวายให้เสวยเป็นระยะๆ ซึ่งสารสำคัญที่เป็นสารพิษนั้นก็คือ สารปรอท น่าสังเกตว่ามีการพบสารปรอทอยู่โดยรอบสุสานที่มีความเข้มข้นมากกว่าปกติอีกด้วย.
ข้อมูลของ จิ๋นซีฮ่องเต้
จักรพรรดิฉินฉื่อ (จีน: 秦始皇帝; พินอิน: Qín Shǐ Huángdì; 260–210 ปีก่อนคริสตกาล)[4] เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกแห่งจักรวรรดิจีน[5][5] ทรงก่อตั้งราชวงศ์ฉิน และไม่ทรงใช้ตำแหน่ง หวัง (王) เหมือนพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์ชางและราชวงศ์โจวก่อนหน้านี้ แต่ทรงใช้ตำแหน่ง หฺวังตี้ (皇帝) อันเป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์จีนทรงใช้สืบ ๆ กันมาอีกสองพันปี
พระองค์ประสูติในหานตาน เมืองหลวงของรัฐจ้าว มีพระนามเดิมว่า อิ๋ง เจิ้ง (嬴政) หรือ จ้าว เจิ้ง (趙政) พระบิดา คือ พระเจ้าฉินจฺวังเซียง (秦莊襄王) พระมหากษัตริย์แห่งรัฐฉิน พระมารดา คือ จ้าว จี (赵姬) พระองค์ทรงได้รับความอนุเคราะห์จากลฺหวี่ ปู้เหวย์ (呂不韋) พ่อค้าผู้มั่งคั่ง ในการสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระบิดา ครั้น 221 ปีก่อนคริสตกาล ขณะพระชนม์ได้ 38 พรรษา พระองค์ทรงพิชิตรัฐอื่น ๆ ได้ทั้งสิ้น และทรงผนวกรวมรัฐเหล่านั้นเข้าเป็นจักรวรรดิอันหนึ่งอันเดียว แล้วทรงขึ้นครองอำนาจในฐานะ หฺวังตี้ พระองค์แรกของจักรวรรดิจีน ในรัชสมัยของพระองค์ แม่ทัพนายกองของพระองค์มีส่วนอย่างมากในการขยายอาณาเขตจักรวรรดิของพระองค์ โดยทำสงครามกับชาวไป่เยฺว่ (百越) ทางตอนใต้ของรัฐฉู่จนสามารถผนวกหูหนานและกวั่งตงได้เป็นการถาวร และทำสงครามกับชาวซฺยงหนู (匈奴) ทางตอนในของเอเชีย
พระองค์ยังทรงร่วมกับอัครมหาเสนาบดีหลี่ ซือ (李斯) ในการปฏิรูปขนานใหญ่ในด้านเศรษฐกิจและการเมือง เพื่อทำให้หลักปฏิบัติที่แตกต่างกันไปในรัฐต่าง ๆ แต่เดิมนั้นกลายเป็นมาตรฐานเดียวกัน ประวัติศาสตร์แบบจารีตระบุว่า ในการนี้ ทรงสั่งให้เผาตำราและฆ่าบัณฑิตเป็นอันมาก โครงการอันใหญ่โตของพระองค์นั้นยังรวมถึงการหลอมรวมกำแพงของรัฐต่าง ๆ เข้าเป็นกำแพงเมืองจีนอันหนึ่งอันเดียวกัน และจัดทำเส้นทางสัญจรทางบกให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ตลอดจนจัดสร้างสุสานฉินฉื่อหวังซึ่งมีทหารดินเผาขนาดเท่าคนจริงคอยอารักขาอยู่ พระองค์เสวยราชย์อยู่จนเสด็จสวรรคตเมื่อ 210 ปีก่อนคริสตกาล ระหว่างเสด็จประพาสภาคตะวันออกเป็นครั้งที่ 5[6]
นักประวัติศาสตร์แบบจารีตมักพรรณนาว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ปกครองที่โหดร้าย และเป็นผู้นิยมกฎหมายที่เข้มงวด ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมุมมองในสมัยราชวงศ์ฮั่นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์พระองค์อย่างเผ็ดร้อน ทว่า นับแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา นักวิชาการเริ่มตั้งคำถามถึงมุมมองดังกล่าว[7]
หากคุณชื่อชอบบทความของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ได้ ที่นี่