มะเร็งเต้านม! ตรวจก่อน รู้ก่อน รักษาได้

Share

 

“เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก…”

 

วรรคทองที่โดนใจสาว ๆ ทุกวัยอย่างที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับไม่ใช่แค่มิติทางสังคมเท่านั้นที่ผู้หญิงอาจใช้ชีวิตได้ยากกว่าผู้ชาย เพราะในแวดวงการแพทย์ก็ยังเป็นที่ยอมรับเช่นกันว่าร่างกายผู้หญิงนั้นซับซ้อนและดูแลยากกว่าผู้ชายหลายเท่า และหนึ่งในโรคที่มักพบในหมู่สาว ๆ และดูจะเป็นเรื่องไกลตัวของหนุ่ม ๆ จนแทบไม่มีใครเคยนึกถึงก็คือ มะเร็งเต้านม

สาเหตุที่ยากจะฟันธงของมะเร็งเต้านม

สาเหตุที่แน่ชัดของโรคมะเร็งส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องที่การแพทย์ยังไม่สามารถระบุแบบเฉพาะเจาะจงได้ 100% ซึ่งมะเร็งเต้านมก็เช่นกัน “แต่เราสามารถอธิบายถึงปัจจัยบางข้อที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้”

ผศ.นพ.ธงชัย ศุกรโยธิน ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งเต้านม ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลวิมุต

ผศ.นพ.ธงชัย ศุกรโยธิน ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งเต้านม ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลวิมุต อธิบาย “เราอาจแบ่งปัจจัยเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ปัจจัยภายในของตัวผู้ป่วย ซึ่งก็อย่างที่ทราบกัน คือเพศหญิงมีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าเพศชาย เพราะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่เป็นผู้ชายเพียง 1% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่เท่านั้น นอกจากนี้ก็มีปัจจัยด้านอายุที่เพิ่มขึ้น เพราะโอกาสที่จะเกิด Genetic Damage หรือการกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรมในร่างกายมีมากขึ้น ซึ่งร่างกายก็ไม่สามารถซ่อมแซมความเสียหายได้ดีเหมือนตอนอายุน้อย ๆ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องประวัติมะเร็งในครอบครัว สถิติชี้ว่ามะเร็งเต้านม 5-10% มาจากกรรมพันธุ์ซึ่งเกิดจากยีนผิดปกติที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก รวมถึงเรื่องของเชื้อชาติ โดยผู้หญิงผิวขาวมีแนวโน้มเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงผิวดำและผู้หญิงเอเชีย” 2) ปัจจัยภายนอกทั้งจากการพฤติกรรมและอื่น ๆ อาทิ โรคอ้วน โดยเซลล์ไขมันสร้างเอสโตรเจน ซึ่งเอสโตรเจนสามารถทำให้มะเร็งเต้านมที่มีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวกพัฒนาและเติบโตได้ รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ นอกจากนี้ การใช้ฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือนก็อาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน”

อาการของมะเร็งเต้านมเป็นอย่างไร?

อาการของมะเร็งเต้านมมีหลายอย่าง ซึ่งในหลายเคสที่เป็นแล้วก็ยังไม่มีอาการที่ชัดเจน ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ก็เช่น อาการบวมของเต้านม อาการระคายเคืองที่ผิวหนังหรือรอยบุ๋มที่เต้านม หัวนมถูกดึงให้เปลี่ยนทิศ หัวนมมีสีแดง ตกสะเก็ด หรือหนาขึ้น มีของเหลวที่ไม่ใช่น้ำนมไหลจากหัวนม หรือเกิดก้อนที่เต้านมหรือที่รักแร้ เป็นต้น ซึ่งสาว ๆ ต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติและคลำตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ

ดังที่กล่าวข้างต้นว่าสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งเต้านมยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ ดังนั้นการลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม ก็คือการรักษาสุขภาพเบื้องต้นที่เราทุกคนควรปฏิบัติกันอยู่แล้ว อาทิ การรักษาน้ำหนักไม่ให้อ้วน กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย จำกัดแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น

เป็นแล้วรักษายังไง? หายขาดได้หรือไม่?

เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลายคนอยากรู้มากที่สุด ซึ่งคุณหมอธงชัยให้คำตอบว่า “สำหรับมะเร็งเต้านม แพทย์ยังไม่สามารถบอกได้ว่าสามารถรักษาหายขาด แต่ในมะเร็งเต้านมระยะแรก การรักษาจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้หายขาดเสมอ ส่วนในมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย การรักษาจะมีเป้าหมายเพื่อประคับประคองและควบคุมโรคให้ได้นานที่สุดโดยไม่มีอาการ”

สำหรับการรักษามะเร็งเต้านมของโรงพยาบาลวิมุตเป็นการรักษาแบบสหสาขาวิชาชีพครบวงจร โดยเกิดจากการทำงานร่วมกันของทีมแพทย์รังสีวินิจฉัย ศัลยแพทย์เต้านม อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา แพทย์รังสีรักษา แพทย์กายภาพบำบัด โดยจะดูแลตั้งแต่การคัดกรอง การตรวจชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัย การผ่าตัด การฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การให้ยารักษาแบบมุ่งเป้า การให้ยาต้านฮอร์โมน รวมถึงการฉายแสง และแน่นอน ทางโรงพยาบาลยังตระหนักดีว่าหน้าอกคือส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นใจของผู้หญิง ดังนั้นทีมศัลยแพทย์จะช่วยประเมินตั้งแต่ก่อนการผ่าตัดรักษา ว่าสามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้หรือไม่ หากไม่สามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้ จึงจะพิจารณาผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดแล้วทำการเสริมสร้างเต้านมใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาโรคทางกายภาพแล้ว ยังเป็นการเยียวยาความรู้สึกและอารมณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนปกติมากที่สุด

เมื่อทราบเช่นนี้ คุณผู้หญิงอย่านิ่งนอนใจ สามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเบื้องต้นได้ เพราะหากตรวจพบก็จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มีประสิทธิภาพสูงสุด หรืออาจหายขาดได้

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles