โรคที่ยั่งยืน (?) VS โลกที่ยั่งยืน
วันนี้ แทบไม่ต้องเอ่ยถึงว่า ทุกคนบนโลกกำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโรคอะไรอยู่ เพราะชื่อ โควิด นั้นติดหู และกลายเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายสำหรับหลายต่อหลายคน จนทำให้โลกที่เราอยู่ กลายเป็นโลกใบใหม่ กับวิถีชีวิตแบบใหม่ที่อยู่กันอย่างหวาดระแวง และระแวดระวังตัวกันสูงสุดมาเกิน 2 ปี
ทุกวิถีการใช้ชีวิต มีอยู่ 2 แง่มุมเสมอ ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้นก็ตาม และบางเรื่องยังนำไปสู่การใช้ชีวิตบทใหม่ บนโลกใบเดิม ที่ดูเหมือนโลกใบใหม่ในทาง abstract เพราะการใช้ชีวิตจากนี้ไป จะไม่เหมือนเดิม..
หลายครั้ง ผู้คนแทบจะแยกโลกจริงกับโลกเสมือนไม่ออก เนื่องจากเทคโนโลยีล้ำหน้าทุกวันนี้ พาเรามาได้ไกลแบบที่เราไม่เคยนึกถึงว่าจะเกิดขึ้นได้จริง เงินเสมือน การใช้ชีวิตเสมือน อยู่กับที่ ก็ยังท่องเที่ยว พบปะผู้คนใหม่ๆ ได้ ไม่มีเงินสดในกระเป๋า แต่จับจ่ายได้ กระทั่งไม่มีเงินสดที่เป็นบัญชีอยู่บนระบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็ยังซื้อหาสิ่งต่างๆ ได้มากมาย และกำลังจะต้องจ่ายภาษีกับเงินเหล่านี้ที่ไม่สามารถจับต้องได้
ปัจจุบัน เรามีวิถีชีวิตแบบใหม่บนโลกใบเดิม แต่รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนใหม่เกือบทั้งหมด ไม่ได้กำลังพูดถึง metaverse หรือ crypto currency เพราะยังไกลตัวผู้คนอีกหลายๆ คนที่ใช้ชีวิตบนโลกกายภาพแบบเก่า
รูปแบบการใช้ชีวิตแบบใหม่ นำไปสู่อะไร..
ในมุมธุรกิจ เทคโนโลยีทำให้เกิดความก้าวหน้า ถ้าเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมและถูกวิธี แต่ในสภาวะการณ์ปัจจุบัน กลับกลายเป็นความความก้าวหน้าที่ย้อนแย้งกับเศรษฐกิจที่ถดถอย อันเป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด
ผู้ที่อยู่รอด คือผู้ที่ปรับตัวได้ดี ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี นำพาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส การพบปะโดยที่ไม่จำเป็น ซึ่งความดีงามของเทคโนโลยีส่วนหนึ่ง คือช่วยสร้างความยั่งยืน หลายหน่วยงานที่กำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กรต่างมุ่งหวังว่า ธุรกิจต้องรอด พนักงานต้องปลอดภัย สิ่งที่เพิ่มเติมซึ่งเป็นเรื่องรอง แต่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับโลกปัจจุบัน คือระบบที่ฉลาด มีสมองส่วนวิเคราะห์ และทำงานทุกอย่างได้แบบอัตโนมัติ คือระบบที่ช่วยสร้างความยั่งยืน!
นั่นคือข้อดีที่ได้จากวิกฤต ด้วยหลักธรรมชาติที่ว่า ทุกวิกฤตมีโอกาส
และทุกโอกาสซึ่งเป็นทางรอด และความปลอดภัย ก็อาจก่อวิกฤตได้เช่นกัน..
เรากำลังถอยหลังสู่ โลกร้อนกันหรือไม่?
แม้โลกยังไม่ทันได้เย็นขึ้น และแม้องค์กรใหญ่ระดับโลกมากมาย กำลังพยายามช่วยกันหยุดอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศา พร้อมตั้งเป้าแบบ moonshot ด้วยการไปให้ถึง Net Zero ก็ตาม แต่ในฝั่งการบริโภค ดูเหมือนจะถอยหลังกันอยู่
ก่อนหน้านี้ เราเคยเห็นแคมเปญรณรงค์ ลดขยะพลาสติกกันแบบเชิงรุก ทำให้ร้านค้าใหญ่ๆ และห้างร้านชั้นนำรณรงค์งดแจกถุงพลาสติก ให้เอาถุงผ้าไปใส่ของเอง หรือรณรงค์ให้เอาแก้วของตัวเองไปใส่เวลาที่ซื้อกาแฟ หรือเครื่องดื่มจากร้าน และจะได้ส่วนลดแลกกลับมา..
ปัจจุบัน ประเด็นนี้ แทบไม่ถูกหยิบยกมาพูดถึง พอๆ กับที่ร้านเครื่องดื่มต่างร่วมใจกันงดรับแก้วส่วนตัว ร้านอาหาร วางช้อนส้อมพลาสติกแทนการใช้ช้อนสเตนเลสในเวลาที่นั่งกินที่ร้าน ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการซื้อของกลับ หรือสั่งอาหารผ่านดิลิเวอรี่ทั้งหลาย ทุกอย่างตั้งอยู่บนมาตรฐานการควบคุมการแพร่ระบาด ช้อนส้อม กระดาษเช็ดปาก ถูกบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกอีกที
พนักงานขายอาหาร แม่ค้าพ่อขาย ต่างใส่ถุงมือพลาสติกในเวลาที่หยิบจับอาหาร กระทั่ง พนักงานเสิร์ฟ พนักงานเก็บโต๊ะก็ตาม รวมถึงผู้คนตามหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องระวังการสัมผัสต่างหลีกเลี่ยงด้วยการใส่ถุงมือพลาสติก ผู้บริโภคพกถุงมือพลาสติกเอง เวลาไปจับจ่ายข้าวของ ไม่นับรวมพลาสติกที่เกิดจากภาคสาธารณสุข อย่างเข็มฉีดยา อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ดูแลอนามัยกันในช่วงนี้ อย่างขวดเจล สเปรย์ ฯลฯ นี่คือขยะพลาสติกที่เพิ่มพูนขึ้นมหาศาล จากมาตรฐานคุมเข้มเพื่อป้องกัน ซึ่งดูจะสวนกระแสกันอย่างสิ้นเชิง กับเป้าหมายที่โลกมุ่งไปข้างหน้า
ในปีนี้ จึงเป็นปีที่ต้องจับตาว่า มาตรการที่ผลักดันเรื่องแผนจัดการขยะพลาสติกจากภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาขยะด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนจะได้ไปต่อหรือไม่ ตามกำหนดเวลาเดิมที่ตั้งไว้ระหว่าง 2563-2565 เพื่อเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด ในประเภทถุงหิ้ว แก้วและหลอด รวมถึงกล่องโฟมบรรจุอาหาร รวมถึงหันมาทดแทนด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% พร้อมกับการก้าวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการนำขยะพลาสติกประเภทต่างๆ กลับมาใช้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องกำจัดประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี และเพื่อให้ประหยัดงบประมาณจัดการขยะมูลฝอยให้ได้ประมาณ 3,900 ล้านบาท ในปี 2565
จากสถานการณ์ปัจจุบัน หนทางสู่เป้าหมาย ยังดูขรุขระ เพราะเรายังก้าวไม่พ้นการแพร่ระบาด ความจำเป็นในการใช้วัสดุพลาสติกดูจะตีคู่กันมากับโรคระบาด และความระแวดระวังของผู้คนทุกภาคส่วน
ไม่ว่าโรค (โควิด) จะยั่งยืนหรือไม่ เราต้องก้าวต่อไป ซึ่งสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับพวกเราทุกคน คือการร่วมแรงร่วมใจกันลดขยะเท่าที่ทำได้กันในครัวเรือน แม้จะยังต้องวิตก ระแวดระวัง และดูแลความปลอดภัยตามมาตรการอย่างเข้มงวดก็ตาม
ไม่ว่าการแพร่ระบาดเป็นเรื่องปัจจุบันทันด่วนมากแค่ไหน แต่โลกร้อน..ก็ยังคงเป็นเรื่องด่วนและสำคัญ เพราะวัสดุทดแทนธรรมชาติ คือหนึ่งในตัวการที่ทำลายธรรมชาติได้เช่นกัน..