“ไดร์วูลฟ์” ก้าวแรกสู่การคืนชีพช้างแมมมอธ

Share

 

ภาพของลูกหมาป่าสีขาว 2 ตัวในอ้อมกอดของทีมวิจัยสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คนทั่วโลกทันทีที่มีการประกาศความสำเร็จในการฟื้นคืนชีพ “หมาป่าไดร์วูลฟ์” ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 12,500 ปีก่อน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

นี่คือ 2 ใน 3 ของหมาป่าไดร์วูลฟ์ (Dire Wolf) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “หมาป่าโลกันตร์” ซึ่งคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีจากซีรีส์ทางโทรทัศน์ Game of Thrones มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาในช่วงปลายยุคไพลสโตซีนและยุคโฮโลซีนตอนต้น

วันนี้นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างลูกหมาป่าไดร์วูลฟ์ 3 ตัว โดยใช้เทคโนโลยี DNA การโคลนนิ่ง และการตัดแต่งยีนโบราณเพื่อเปลี่ยนแปลงยีนของหมาป่าสีเทา ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อระบุยีนที่สร้างลักษณะเฉพาะตัว เช่น ขนสีขาว ขนาดตัวที่ใหญ่ และขากรรไกรที่แข็งแรงกว่า

ได้ออกมาเป็น “โรมูลุส” (Romulus) “รีมัส” (Remus) หมาป่าเพศผู้ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2024 และตามมาด้วยสาวน้อย “คาลีซี” (Khaleesi) ในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 2025

จากห้องทดลองสู่ชีวิตจริง

ตามข่าวระบุ Ben Lamm ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Colossal Biosciences บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในเมืองดัลลาส สหรัฐอเมริกา กล่าวอย่างภาคภูมิว่า “เหตุการณ์สำคัญครั้งยิ่งใหญ่นี้เป็นเพียงตัวอย่างแรกจากหลายๆ ตัวอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีการขจัดการสูญพันธุ์แบบครบวงจรของเรานั้นได้ผลจริง”

ทั้งนี้ กระบวนคืนชีพหมาป่าไดร์วูลฟ์ เริ่มจากการสกัด DNA จากฟอสซิลหมาป่าไดร์วูลฟ์ 2 ชิ้น คือฟันอายุ 13,000 ปีพบในสหรัฐฯ และกระดูกหูอายุ 72,000 ปี ที่ขุดพบใน American Falls รัฐไอดาโฮ จากนั้นนำจีโนมที่ได้มาเปรียบเทียบกับจีโนมของหมาป่าสีเทา (Gray Wolf) โดยนำลักษณะทางพันธุกรรมที่เฉพาะเจาะจงของหมาป่าไดร์วูลฟ์ เข้าไปแทนที่ยีนเดิมบางส่วนของหมาป่าสีเทา

เซลล์ที่ผ่านการแก้ไข และมีแนวโน้มดีที่สุดจะถูกนำไปเข้าสู่กระบวนการโคลนนิ่ง และถ่ายโอนตัวอ่อนไปยังสุนัขบ้านพันธุ์ผสมในกลุ่มฮาวด์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแม่อุ้มบุญ

Beth Shapiro หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของ Colossal บอกกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ไม่ได้พยายามนำสิ่งที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับสายพันธุ์ดั้งเดิม 100% กลับมา แต่เป้าหมายในการฟื้นคืนชีพคือการสร้างสำเนาที่ใช้งานได้ของสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์เหล่านั้น โดยเน้นไปที่การระบุตัวแปรที่เรารู้ว่าจะนำไปสู่ลักษณะสำคัญนั้นๆ

ทางด้าน Love Dalén ศาสตราจารย์ด้านจีโนมิกส์เชิงวิวัฒนาการจากศูนย์ Palaeogenetics แห่งมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มและที่ปรึกษาของ Colossal บอกว่า แม้ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นหมาป่าสีเทาถึง 99.9% แต่ยีนที่แก้ไขเข้าไปนั้น ทำให้พวกมันแสดงลักษณะของไดร์วูลฟ์ออกมาอย่างที่ไม่เคยมีใครเห็นมานานกว่า 13,000 ปี ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่จากที่เคยมีมาในอดีต

สถานีสุดท้ายที่ “ช้างแมมมอธ”

Colossal Biosciences เป็น บริษัทเอกชนในเมืองดัลลาส ผู้อยู่เบื้องหลังการประกาศความสำเร็จในครั้งนี้ นับตั้งแต่ Ben Lamm ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่และ George Church นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ร่วมกันก่อตั้งบริษัทในเดือนกันยายน 2021 ระดมทุนได้อย่างน้อย 435 ล้านดอลลาร์ ดำเนินการทดลองวิจัยเพื่อสร้างแมมมอธ นกโดโดและเสือแทสเมเนียน หรือไทลาซีน ขึ้นมาใหม่ ด้วยการแก้ไขจีโนมของญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของแต่ละสายพันธุ์ที่ยังมีชีวิตอยู่

เป้าหมายสุดท้ายที่ระบุไว้ของ Colossal สำหรับโครงการขนาดมหึมานี้คือ โลกที่สัตว์ลูกผสมอย่างช้างแมมมอธจะมีชีวิตอีกครั้งอย่างอิสระ ในดินแดนอาร์กติกที่ปกคลุมไปด้วยหิมะและชั้นดินเยือกแข็ง ทำให้หิมะและหญ้าที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนให้กับพื้นดินบีบอัดกัน การละลายของชั้นดินเยือกแข็งจะช้าลง ลดการปล่อยคาร์บอนที่มีอยู่ในระบบนิเวศที่เปราะบางนี้

Beth Shapiro บอกอย่างชัดเจนว่า การฟื้นคืนชีพไม่ใช่วิธีแก้ไขวิกฤตการสูญพันธุ์ แต่เธอเชื่อว่าเครื่องมือทางเทคโนโลยีชีวภาพที่เธอและทีมของเธอพัฒนาขึ้นระหว่างนั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในวงกว้างมากขึ้นเพื่อปกป้องและฟื้นฟูสายพันธุ์และระบบนิเวศที่ใกล้สูญพันธุ์ได้

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์ว่า การเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ลูกผสมอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งถูกใช้เป็นตัวแทน คริสโตเฟอร์ เพรสตัน ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยมอนทานา บอกว่า เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการถึงบทบาทของหมาป่าไดร์วูลฟ์ในระบบนิเวศ ขณะที่ในรัฐต่างๆ เช่น มอนทานา กำลังประสบปัญหาในการดูแลประชากรหมาป่าสีเทาให้มีสุขภาพดี

ประเด็นสำคัญคือ ต้องถามว่าสัตว์สายพันธุ์ใหม่จะมีบทบาทอย่างไร ระบบนิเวศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การนำสัตว์กลับมาอาจไม่ให้ผลอย่างที่คาด หากภูมิประเทศไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป.

สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles