พริกไทยปะเหลียนกับการพลิกฟื้นพืชพื้นถิ่นสู่ผลิตภัณฑ์มาตรฐานโลก

Share

จังหวัดตรังเคยเป็นแหล่งปลูก “พริกไทยปะเหลียน” พืชพื้นเมืองที่ได้รับฉายาว่า “ทองคำดำ” หรือ Black Gold เพราะมีความต้องการสูงและราคาที่แพงมากในสมัยอยุธยา แต่เมื่อเวลาผ่านไป พริกไทยปะเหลียนกลับสูญเสียความสำคัญและเลือนหายไป ปัจจุบัน พริกไทยปะเหลียนกำลังกลับมาเป็นที่ยอมรับอีกครั้ง ด้วยความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้มุ่งมั่น นักวิจัยผู้พัฒนานวัตกรรม และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของพืชพื้นถิ่น โดยทั้งหมดทำงานร่วมกันภายใต้ “โครงการยกระดับพริกไทยพันธุ์ปะเหลียนด้วยห่วงโซ่คุณค่าใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่สู่ตลาดการแข่งขัน”  ภายใต้แผนงานสำคัญ (Flagship) “มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการท้องถิ่น (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียน ของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ย้อนกลับไปในปี 2559 นายกิตติ ศิริรัตนบุญชัย นวัตกรชุมชน พริกไทยดำปะเหลียน ตัดสินใจเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อกลับบ้านที่จังหวัดตรัง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูพืชพื้นถิ่นอย่างพริกไทยปะเหลียนให้กลับมา บนพื้นที่เพียง 2 ไร่ที่มีอยู่ “ผมอยากให้พริกไทยตรังกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งเหมือนในอดีตที่ เพราะพริกไทยปะเหลียนโดดเด่น มีกลิ่นที่หอมเป็นเอกลักษณ์ มีรสชาติเผ็ดร้อนที่เข้มข้นและลุ่มลึก ผลพริกไทยยังมีขนาดใหญ่เต็มเมล็ด สิ่งนี้ควรถูกเผยแพร่ไม่ใช่ปล่อยให้หายไป”

ความท้าทายในช่วงแรกคือการลองผิดลองถูก ที่ต้องเรียนรู้การจัดการน้ำ ดูแลดิน และควบคุมโรคด้วยตัวเอง ภายหลังได้นำหลักการปลูกส้มมาประยุกต์ใช้กับการปลูกซึ่งได้ผลดีขึ้น แต่คุณกิตติไม่หยุดแค่นั้นยังคงหาความรู้อย่างต่อเนื่องจนได้เข้าร่วมในโครงการสนับสนุนด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ อย่างการปลูกแบบยั่งยืน การจัดการเกษตรกรรมสมัยใหม่ การแปรรูป และการทำตลาด เพื่อให้มีมาตรฐานการปลูกแบบ GAP (Good Agricultural Practices) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย  ที่นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับในปัจจุบัน

“เราเริ่มเห็นผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้รับการยอมรับในตลาดระดับพรีเมียม สามารถตั้งราคาได้สูงถึง 400 บาท ซึ่งราคาสูงกว่าพริกไทยทั่วไปถึง 3 เท่า มันทำให้เรามีกำลังใจที่จะเดินหน้าต่อ และมุ่งมั่นจะชักชวนเกษตรกรในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกพริกไทยปะเหลียนไปด้วยกัน” คุณกิตติ กล่าว 

นอกเหนือจากการสนับสนุนและพัฒนาผู้ปลูกพริกไทยรายย่อย ทั้งคุณกิตติและเกษตรกรอีกหลายรายแล้ว แล้ว  มทร.ศรีวิชัย ก็ได้มีการสนับสนุนกลุ่มผู้จำหน่ายพริกไทยทำไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดการยกระดับของอุตสาหกรรมพริกไทยปะเหลียนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ  โดยการเข้าไปให้คำปรึกษากับเจ้าของพริกไทยปะเหลียนแบรนด์ “Black Gold Trang Pepper” ที่ลงทุนเปลี่ยนสวนปาล์มเก่าจำนวน 50 ไร่ มาปลูกพริกไทยปะเหลียนเมื่อปี 2562 จนประสบความสำเร็จแง่ของผลิตภัณฑ์

“ความช่วยเหลือของทีมวิจัยจาก มทร.ศรีวิชัย  และคุณกิตติ ทำให้เรามีความมั่นใจที่เดินหน้าต่อในธุรกิจนี้ เราเห็นความเป็นไปได้ของพริกไทยปะเหลียนมาโดยตลอด เราเชื่อว่าโอกาสยังมีอยู่ หากเราพัฒนามาตรฐานและสร้างตลาดใหม่ที่มุ่งเน้นคุณภาพได้” น.ส.กันต์หทัย จิตรไมตรีเจริญ หรือ คุณทราย ผู้บริหารของบริษัท แบล็คโกลด์ เทรชเซอร์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ “Black Gold Trang Pepper” กล่าว

การทำงานร่วมกันระหว่างทีมวิจัย คุณกิตติและผู้ประกอบการรายนี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่ฟื้นฟูพริกไทยปะเหลียนให้กลับมาโดดเด่นอีกครั้ง โดยคุณกิตติใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการเพาะปลูก ขณะที่คุณทรายมีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด ทุกฝ่ายช่วยพัฒนาศักยภาพเกษตรกร วิสาหกิจ และผู้ประกอบการรวม 11 ราย ส่งผลให้มูลค่าพริกไทยตรังเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-33.33 รายได้ของกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.60 และลดหนี้สินลงร้อยละ 14.37

ดร.นภัสวรรณ เลี่ยมนิมิตร อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นักวิจัยผู้ร่วมพัฒนากล่าวว่า “ความสำเร็จในการทำงานครั้งนี้ของคุณกิตติคือการรวมเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาชาวบ้านได้อย่างลงตัว อย่างการใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม การจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ และการควบคุมแมลงศัตรูพืช ซึ่งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต   ขณะที่เดียวกันก็ได้ความเชี่ยวชาญด้านการตลาดของผู้ประกอบการมาเสริม  ทั้งหมดนี้ทำให้เราได้ผลผลิตมีคุณภาพสูงและตอบโจทย์ตลาด  ซึ่งสิ่งที่เรากำลังร่วมกันทำต่อไปคือ การส่งเสริมแนวทางการผลิตแบบออร์แกนิก ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะเพิ่มมูลค่าของพริกไทยปะเหลียนในอนาคต”

การปลูกพริกไทยปะเหลียนไม่ได้เป็นเพียงพืชพื้นถิ่นที่ฟื้นคืนชีพ แต่คือหัวใจของ “ตรังโมเดล” ต้นแบบแห่งความสำเร็จที่กำลังขยายไปยังชุมชนอื่น จนคว้ารางวัลระดับชาติและก้าวสู่เวทีนานาชาติ ทว่าความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายสำหรับคุณกิตติมากไปกว่าการได้เห็นเพื่อนเกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น และการที่โลกได้ลิ้มรสพริกไทยตรังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

“นี่คือความภูมิใจของคนตรัง และเป็นบทพิสูจน์ว่าเมื่อทุกคนร่วมมือกัน ความฝันเล็ก ๆ ก็สามารถส่งต่อในระดับโลกได้” ดร.นภัสวรรณ กล่าวสรุป

Related Articles