จะว่าด้วยวิกฤตศรัทธาก็ใช่ วิกฤตเศรษฐกิจก็ไม่ผิด เพราะทั้งสองปัจจัยล้วนส่งเสริมให้แวดวงเรียลเอสเตท จัดเอา “โบสถ์คริสต์” เป็นหนึ่งในหมวดหมู่อสังหาริมทรัพย์ขายดี
โบสถ์ยิ่งเก่า ยิ่งมีความขรึมขลัง มีสตอรี่ที่มากคุณค่าทางประวัติศาสตร์ยิ่งเป็นที่ต้องการ ถือเป็นอสังหาริมทรัพย์เกรดพรีเมียมเลยทีเดียว
เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว คนรุ่นใหม่มองว่าการนับถือศาสนาเป็นสิทธิส่วนบุคคล รักชอบศาสนาใดลัทธิใดก็สามารถทำพิธีปวารณาตนเข้าไปอยู่ใต้ร่มศาสนานั้นได้ทันที
และมีไม่น้อยที่ประกาศตนว่า “ไม่มีศาสนา”!
นอกจากเหตุผลของการมองว่าพระเจ้าไม่มีจริง ยังไม่ต้องเสียภาษีนับถือศาสนา เช่น ในประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือเยอรมันที่ต้องเสียภาษีสูงถึงร้อยละ 9 ของรายได้
มหาวิทยาลัยเซนต์แมรีส์ เคยทำวิจัยศึกษาการนับถือศาสนาของคนหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 16-29 ปี จาก 21 ประเทศในยุโรป พบว่า ส่วนใหญ่ยอมรับว่าไม่ยึดติดกับศาสนาใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งมีจำนวนมากถึงกว่าร้อยละ 91
แม้กระทั่งในประเทศที่มีความสัมพันธ์กับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอย่างใกล้ชิดในหน้าประวัติศาสตร์ อย่างฝรั่งเศสหรือสเปน คนรุ่นใหม่มากกว่าครึ่งระบุว่าไม่นับถือศาสนาใด มีเพียงแค่ร้อยละ 23 และ 37 ตามลำดับที่บอกว่านับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
ขณะเดียวกันพบว่าตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา จำนวนบาทหลวงในยุโรปลดลงอย่างเห็นได้ชัด ข้อมูลทางสถิติจากสำนักข่าวของวาติกัน ชี้ให้เห็นว่าระหว่างปี ค.ศ. 2002 และ 2018 บาทหลวงในยุโรปลดลงกว่าร้อยละ 14.6
เมื่อโบสถ์คริสต์ไม่มีคนไปร่วมพิธี ประกอบกับเศรษฐกิจตกต่ำย่อมส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของโบสถ์ ผลที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ “การประกาศขายโบสถ์” ซึ่งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งในยุโรปและอเมริกา
ฟาติมาสาร เคยรายงานถึงวิกฤตศรัทธานี้โดยอ้างอิง “วาติกัน อินไซเดอร์” เว็บไซต์ที่รวบรวมนักข่าวสายวาติกันระดับโลกไว้ในที่เดียวกัน เปิดเผยตัวเลขว่า แต่ละปีนิกายแองกลิกันในสหราชอาณาจักรจะประกาศปิดโบสถ์และติดป้ายขายโบสถ์อย่างน้อย 20 แห่งต่อปี เนื่องจากโบสถ์เหล่านี้มีผู้มาร่วมพิธีน้อยมาก การขายโบสถ์เพื่อเก็บเงินสดไว้ใช้ยามฉุกเฉินเป็นทางออกที่ดีกว่า
ไม่ต่างจากในสหรัฐอเมริกาที่การซื้อขายโบสถ์คริสต์เป็นเรื่องที่กำลังได้รับความนิยม นักพัฒนาที่ดินหลายเจ้าซื้อโบสถ์คาทอลิกไปประกอบกิจการอื่น อาทิ ร้านอาหาร รวมไปถึงผับบาร์ เพราะชมชอบในงานดีไซน์และการออกแบบภายในสวยงามเป็นที่ต้องตาต้องใจ
ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ ChurchForSale.ca ซึ่งทำธุรกิจเรียลเอสเตท มีที่ตั้งอยู่ในแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา มานานกว่า 30 ปี เจรจาซื้อขายโบสถ์มากว่า 100 รายการ มีบริการอสังหาริมทรัพย์ไม่เพียงโบสถ์คริสต์ ยังมีทั้งวัด สุเหร่า และธรรมศาลาของชาวยิว
ไม่เพียงความเป็นล่ำเป็นสันของนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ในหมวด “โบสถ์คริสต์” ที่นำไปรียูสเป็นร้านอาหาร บ้างปรับเป็นโกดังสำหรับงานในอุตสาหกรรมบ้าง ฯลฯ อีกประเด็นน่าสนใจคือ การซื้อ “โบสถ์” ไปปรับเป็น “มัสยิด” เช่น ที่ประเทศตุรกี เนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน
ดังที่คริสตจักรอีแวนเจลิคัลในเยอรมนีเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมามีโบสถ์โปรเตสแตนท์อย่างน้อย 277 แห่งถูกขายหรือรื้อทิ้ง และคนที่มาขอซื้อก็คือชาวมุสลิมที่ต้องการสถานที่นั้นเพื่อใช้เป็นมัสยิด
กระแสความนิยมเช่นนี้ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น รวมทั้งประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย อย่างสวีเดนและเดนมาร์ค โดยเฉพาะเดนมาร์ค กล่าวกันว่าโบสถ์ที่ประกาศขายมากที่สุด คือโบสถ์ที่อยู่ในกรุงโคเป็นเฮเกน แม้ว่าจำนวนโบสถ์ในประเทศเดนมาร์กที่จดทะเบียนมีมากถึงร้อยละ 82 แต่มีผู้เข้าโบสถ์ไม่เกินร้อยละ 8
สืบเนื่องจากมีจำนวนผู้ที่ “ไม่เชื่อในพระเจ้า” มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ชาวมุสลิมที่อพยพลี้ภัยสงครามจากอิรัก อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และโซมาเลีย ได้เข้าไปอาศัยในสแกนดิเนเวียมากขึ้นเรื่อยๆ ประชากรมุสลิมในสแกนดิเนเวียจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
แม้จะสร้างความกังวลใจในประเด็นความขัดแย้งทางศาสนา แต่ที่สุดทั้งหมดทั้งมวลต้องดูที่เจตนาของการกระทำ
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว มองเป็นเรื่องของความงามของศิลปะ สถาปัตยกรรมที่ส่งต่อจากยุคสู่ยุค ที่ยังคงยังประโยชน์สูงสุดปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและภาวะแวดล้อมในสังคมนั้นๆ นับเป็นสิ่งที่ดี นอกจากนี้รูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่เพียงสร้างมูลค่าเพิ่ม ยังบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
แน่อนว่า ย่อมดีกว่าการถูกปล่อยทิ้งร้างอย่างไร้ประโยชน์และไร้ค่า…มิใช่หรือ.