กรมควบคุมมลพิษ จุฬาฯ DGA และ AIS เสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลสร้าง Environmental hero

Environmental Hero 4 องค์กรสำคัญ กรมควบคุมมลพิษ จุฬา DGA และ AIS ผนึกกำลังร่วมกันปกป้องสภาพสิ่งแวดล้อมของไทย
Share

 

กรมควบคุมมลพิษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AIS ลงนาม MOU โครงการสร้างความร่วมมือส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนในการมีชีวิตที่มีสิ่งแวดล้อมสะอาดสำหรับทุกคน

 

จากสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยเฉพาะคุณภาพอากาศค่าฝุ่น PM2.5 ทั้งในภาคเหนือของประเทศไทย , กทม. และปริมณฑล เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่สำคัญและเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ  กรมควบคุมมลพิษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AIS

Environmental Hero 4 องค์กรร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม

องค์ทั้ง 4 เล็งเห็นถึงปัญหาร่วมกัน อีกทั้งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลตามคำแถลงของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวันจันทร์ ที่ 11 กันยายน 2566 รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นําความปลอดภัย สร้างศักดิ์ศรี และนําความภาคภูมิใจมาสู่ประชาชนไทยทุกคน

โดยคุณภาพชีวิตที่ดีประการหนึ่งคือชีวิตที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสำหรับทุกคน รัฐบาลจะดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศและส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน รัฐบาลจะแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติโดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคนด้วย

การดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว สร้างเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนจากทุกมิติ โดยสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้จากชุดข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนภายใต้ โครงการสร้างความร่วมมือส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ในครั้งนี้ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน และเครือข่ายความร่วมมืออื่น

ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการพร้อมทั้งส่งเสริมการนำเทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศรวมถึงนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ประโยชน์ จึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือในเฝ้าระวังและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังต่อยอดให้เกิดแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสำหรับทุกคน

Environmental Hero ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้าช่วย

กรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศที่มีบทบาทในการเสนอแนะ กำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด และป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากภาวะมลพิษ โดยนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษมีความมุ่งหวังที่จะผลักดันในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม
เพื่อกำหนดมาตการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากมลพิษ มีความยินดีให้การสนับสนุนข้อมูล ตลอดจนองค์ความรู้ด้านบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพื่อการดำเนินงานภายใต้โครงการสร้างความร่วมมือส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและ “ระบบเตือนภัยฝุ่น” พร้อมจัดทำอุปกรณ์ตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 มาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี จนมีแพลตฟอร์มแจ้งสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ผ่านแพลตฟอร์ม CuSense และ Sensor for All รวมถึง API ที่สามารถดึงค่าฝุ่นจากในระบบ ไปต่อยอด Application ต่างๆ ได้เอง

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นโอกาสอันดีของความร่วมมือนี้จะได้ร่วมกันต่อยอดจากทรัพยากรต่างๆ ที่มีของแต่ละองค์กร เพื่อให้เกิดแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศสำหรับข้อมูลเปิดด้านสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนนำข้อมูลเปิดไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางและสะดวก  ซึ่งเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลเปิดที่จะแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ PM2.5 ของประเทศไทย

ทางด้านบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด โดย นายวทัญญู เสวิกุล หัวหน้าแผนกงานขายลูกค้าองค์กร ด้านการเงินและหน่วยงานราชการ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เปิดเผยว่า เทคโนโลยี 5G ถือเป็นเมกะเทรนด์ที่ได้ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก และเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดระยะเวลา และลดต้นทุนในการผลิต

ซึ่ง IoT จะเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่คนไทยและภาคธุรกิจ AIS ในฐานะผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโครงข่ายให้ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นรายแรกและรายเดียวในไทย ตลอดจนการสนับสนุนและร่วมพัฒนานวัตกรรมให้กับทุกภาคส่วน เพื่อสร้าง ecosystem ของประเทศให้แข็งแกร่ง โดยมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยี 5G มาพัฒนาเพื่อยกระดับประสบการณ์ดิจิทัล และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทุกภาคส่วนในทุกมิติ

และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA โดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า ในฐานะที่ DGA เป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนดิจิทัลภาครัฐ ได้หารือแนวทางการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยจัดการคุณภาพอากาศร่วมกันระหว่างกรมควบคุมมลพิษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ AIS โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกันที่จะประสานความร่วมมือในการ ขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม

ตามบันทึกความร่วมมือนี้ DGA ซึ่งมีภาระกิจสำคัญหนึ่งในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุน กระตุ้น ติดตามให้คำปรึกษา ตลอดจนส่งเสริมหน่วยงานรัฐให้มีการพัฒนาข้อมูลเปิดให้มีความทันสมัย มีความถูกต้อง และนำไปใช้งานได้หลากหลายเกิดประโยชน์แก่ประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ พร้อมยินดีให้การสนับสนุนและผลักดันเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลเปิดด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ความร่วมมือในโครงการนี้

นอกจากนี้ DGA ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งเสมือน SUPER APP ของภาครัฐที่รวมการให้บริการจากทุกหน่วยงานรัฐที่ช่วยแก้ปัญหาประชาชน ปัจจุบันมีบริการแล้วกว่า 112 บริการ โดย DGA มีความมุ่งหวังที่จะต่อยอดผลจากการดำเนินงานโครงการนี้ให้สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้บน แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ต่อไป ทั้งนี้โครงการสร้างความร่วมมือดังกล่าวจะได้ช่วยผลักดันนโยบายเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในมิติของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสำหรับทุกคน
innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles