Huawei จัดประชุม Huawei APAC Digital Innovation Congress ชู “นวัตกรรมเพื่อเอเชียแปซิฟิกยุคดิจิทัล”
Huawei ร่วมกับมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) จัดงานประชุม Huawei APAC Digital Innovation Congress เป็นวันแรกที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ, ผู้เชี่ยวชาญ, นักวิจัย, พันธมิตรธุรกิจและนักวิเคราะห์เข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน จากกว่า 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อร่วมวางโครงสร้างอนาคตของนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยหัวข้อการประชุมครอบคลุมถึงเรื่องความรุดหน้าในเทคโนโลยีไอซีที การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
“เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมาเป็นเวลานาน และปัจจุบันก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัลอีกด้วย” นายเคน หู ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระของ Huawei กล่าวในสุนทรพจน์เปิดงาน และกล่าวย้ำว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิยกระดับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลสู่นโยบายเชิงกลยุทธ์และร่วมสนับสนุนนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
“Huawei มีรากฐานหยั่งลึกในเอเชียแปซิฟิก และให้บริการลูกค้าในภูมิภาคมาเป็นเวลากว่า 30 ปี เราภูมิใจที่ได้ร่วมสนับสนุนการพัฒนาด้านดิจิทัลในภูมิภาคให้รุดหน้า ซึ่งต่อจากนี้ เราจะมุ่งลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านนวัตกรรมเพื่อเสริมศักยภาพของพันธมิตรให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ โดยในปีพ.ศ. 2565 เราวางแผนสนับสนุนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มเติมในด้านดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม ด้วยการเสริมศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล มุ่งเน้นการพัฒนาที่ลดการปล่อยคาร์บอน และสนับสนุนความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล”
ดร.หยาง มี เอง กรรมการบริหารมูลนิธิอาเซียน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานว่า “การรวมตัวที่แข็งแกร่งระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเท่านั้นที่จะร่วมสร้างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในยุคดิจิทัลที่เท่าเทียมกันและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต การประชุม Huawei APAC Digital Innovation Congress 2022 นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างมูลนิธิอาเซียนกับ Huawei เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาทักษะของผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
กลยุทธ์ส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นายสัตวินเดอร์ ซิงห์ รองเลขาธิการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เน้นย้ำความคืบหน้าของแผนแม่บทด้านดิจิทัลในอาเซียน พ.ศ. 2568 รวมถึงมุมมองด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ลงทะเบียนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านคนในอาเซียน ส่งผลให้มีฐานผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตใหญ่เป็นอันดับสาม ด้วยจำนวนผู้ใช้รวมเกือบ 400 ล้านคน มีการคาดการณ์ว่ารายได้ด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนจะสูงถึง 363,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี พ.ศ. 2568” เขากล่าวเสริมอีกว่า “การผนึกกำลังที่เข้มแข็งจากหลายฝ่ายรวมถึงภาคเอกชน จำเป็นอย่างยิ่งในการเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน”
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “ประเทศไทยสนับสนุนการดำเนินการตามแผนแม่บทด้านดิจิทัลในอาเซียน พ.ศ. 2568 อย่างเต็มที่ เพราะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการปรับตัวด้านเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เรามุ่งยกระดับศักยภาพของเทคโนโลยีไอซีทีและดิจิทัลเพื่อเข้าถึงบริการของภาครัฐและเอกชนอย่างเท่าเทียมกัน และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน”
ดร. เอช. ซานเดียกา ซาลาฮัดดิน อูโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจนันทนาการของอินโดนีเซีย กล่าวถึงนวัตกรรมที่ผลักดันประเทศอินโดนีเซียในยุคดิจิทัลว่า “เทคโนโลยี ‘Frontier’ ช่วยผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย และสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและนันทนาการในปัจจุบัน คือมาตรการที่ยั่งยืนในด้านสุขอนามัย, การดูแลสุขภาพ ตลอดจนความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่ปรับเปลี่ยนได้เฉพาะบุคคลและกลมกลืนกับวิถีชีวิตท้องถิ่น” เขากล่าวเสริมว่า “เรามุ่งหาโซลูชันและความก้าวหน้าเชิงเทคนิคเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านอุตสาหกรรมในประเทศอินโดนีเซีย โดยได้ร่วมลงนามในโครงการสำคัญเชิงกลยุทธ์กับหัวเว่ย เพื่อขยายขีดความสามารถด้านดิจิทัลของชาวอินโดนีเซียและเสริมศักยภาพให้กับสตาร์ทอัพในท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อฟื้นฟูและสร้างความแข็งแกร่งไปพร้อมกัน”
ดาโตสรี ดร. อดัม บิน บาบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของมาเลเซีย กล่าวว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมีความจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน ประเทศมาเลเซียเพิ่งเปิดตัวพิมพ์เขียวเศรษฐกิจดิจิทัลของมาเลเซีย (MyDIGITAL) เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันและสร้างอุปสงค์สำหรับโซลูชันดิจิทัลที่พัฒนาโดยสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลท้องถิ่นรวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งด้านอุปกรณ์และงานระบบตลอดจนซอฟต์แวร์ที่ครอบคลุมถึงโปรแกรมและปัญญาประดิษฐ์ (AI) สิ่งเหล่านี้ร่วมผลักดันให้มาเลเซียก้าวสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตชั้นนำด้านโซลูชันเทคโนโลยี
นายมุสตาฟา แจ็บบาร์ รัฐมนตรีกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมของบังกลาเทศ อธิบายว่าอุตสาหกรรมการสื่อสารของบังกลาเทศเติบโตอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่การนำเสนอกลยุทธ์ ‘ดิจิทัลบังกลาเทศ’ ในปี พ.ศ. 2551 ส่งผลให้อัตราครอบคลุมบรอดแบนด์มือถือในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 98.5% และขยายฐานผู้ใช้จาก 40 ล้านคนในปีพ.ศ. 2561 เป็น 180 ล้านคนในปัจจุบัน “ความสำเร็จนี้เปลี่ยนวิถีชีวิตชาวบังกลาเทศไปอย่างมาก และคงไม่เกิดขึ้นหากปราศจากการสนับสนุนจากพันธมิตรในอุตสาหกรรมและอีโคซิสเต็มทั้งหมด” แจ็บบาร์กล่าวเสริม
พันธกิจของหัวเว่ยเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นายไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริหารประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Huawei กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับโอกาสมหาศาลด้านดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและกล่าวถึงพันธกิจ ‘ในเอเชียแปซิฟิก สำหรับเอเชียแปซิฟิก’ หรือ ‘In Asia-Pacific, for Asia-Pacific’ ของหัวเว่ย เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียแปซิฟิก โดยทำงานร่วมกับลูกค้าและพันธมิตรเพื่อสร้างวิถีชีวิตดิจิทัลที่ดีขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“Huawei มุ่งมั่นขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานอันทันสมัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเอเชียแปซิฟิก สร้างระบบนิเวศเชิงอุตสาหกรรมที่รุดหน้า และผลักดันภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเท่าเทียม” ไซมอน กล่าวเสริม
นอกจากนี้เขายังเปิดเผยว่า บริษัทยังส่งมอบบริการเชื่อมต่อให้กับประชากรกว่า 90 ล้านครัวเรือนและผู้ใช้มือถือหนึ่งพันล้านคนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่ 4 ด้านการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (IaaS) ในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการผสานเทคโนโลยีดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์กำลังเพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในด้านพลังงานเพื่อสร้างโลกอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Huawei ร่วมมือกับพันธมิตรองค์กรและคลาวด์เกือบ 10,000 ราย และวางแผนการลงทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐในโครงการ Spark เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มสตาร์ทอัพในเอเชียแปซิฟิก มีการร่วมมือกับพันธมิตรจัดฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลให้ประชากรกว่า 170,000 คน และวางแผนฝึกอบรมให้กับประชากรอีกกว่า 500,000 คนภายในเวลาห้าปีเพื่อพัฒนาอีโคซิสเต็มที่เปี่ยมศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้รุดหน้า
การอภิปรายในงาน Huawei APAC Digital Innovation Congress มีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมจำนวนมาก รวมถึงศาสตราจารย์ พอล เชิง ผู้อำนวยการสถาบัน Asia Competitiveness Institute จากโรงเรียนนโยบายสาธารณะ ลี กวน ยู แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์, โมฮัมเหม็ด เจลิด ผู้อำนวยการสำนักวิทยาศาสตร์ยูเนสโกแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก, ดร. อิสคานดาร์ ซาหมัด ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ MIMOS Berhad หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งชาติของมาเลเซียและ นายเดวิด ลู ประธานด้านกลยุทธ์และการตลาดภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกของ Huawei ผู้อภิปรายร่วมสรุปว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแบบดิจิทัลที่ก้าวหน้าและยั่งยืนนั้นขึ้นอยู่กับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ นโยบายอุตสาหกรรมที่เอื้ออำนวย โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่ง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ครอบคลุม และอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่งของผู้เชี่ยวชาญทักษะดิจิทัล
ภายในงานมีการอภิปรายเชิงอุตสาหกรรม 4 ด้าน โดยเน้นนวัตกรรมใหม่ของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ได้แก่ แคมปัสอัจฉริยะ ศูนย์ข้อมูลแบบฟูลสแตก (full-stack data centers) ดิจิทัลพาวเวอร์ และคลาวด์ ในเซสชันแคมปัสอัจฉริยะ หัวเว่ยเปิดตัวโซลูชันเพื่อใช้ประเมินสถานการณ์แคมปัส รวมถึงเครือข่ายแคมปัสพื้นฐานและการสถานการณ์การใช้ FTTO/FTTM พร้อมทั้งประกาศความสำเร็จล่าสุดและตัวอย่างแนวทางการดำเนินงานยอดเยี่ยมของลูกค้าและคู่ค้า การอภิปรายในเซสชันคลาวด์ หัวเว่ยเปิดตัวผลิตภัณฑ์และโซลูชันใหม่ ได้แก่ GaussDB ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่จัดเก็บบนคลาวด์และ DevCloud หรือศูนย์รวม DevOps แบบครบวงจรเพื่อการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เปี่ยมประสิทธิภาพยิ่งขึ้น