Katherine Commale ยังจำได้ไหม… เด็กน้อยทูตแห่งมุ้ง และมาลาเรีย

Katherine Commale เด็กน้อยทูตแห่งมุ้ง และมาลาเรีย องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ทุกวันที่ 25 เมษายน เป็น World Malaria Day
Share

 

ห่างหายไปจากการรับรู้ของผู้คนเสียนาน เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดโรคอุบัติใหม่มากมาย ไม่เพียงโควิด 19 แม้แต่การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ที่มีการเตือนกันว่าอาจเป็นต้นเหตุของการแพร่กระจายของเชื้อโรคดึกดำบรรพ์ที่ถูกแช่แข็งอยู่ภายใต้ผืนน้ำแข็งมานานนับศตวรรษ

 

ขณะที่มาลาเรียก็ยังไม่ได้สูญหายไปไหน องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ทุกวันที่ 25 เมษายน เป็น “วันมาลาเรียโลก (World Malaria Day)” มุ่งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศภูมิภาคเขตร้อน โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ โรคมาลาเรีย (Malaria) หรือที่รู้จักกันในชื่อไข้ป่า หรือไข้จับสั่น เป็นโรคติดต่อที่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต มีการแพร่ระบาดในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก เกิดจากเชื้อโปรโตซัวที่ชื่อ พลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) โดยเชื้อโปรโตซัวที่ก่อโรคมาลาเรียในคนมีอยู่ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ P. falciparum P. vivax P. ovale P. malariae และ P. knowlesi

สายพันธุ์ที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย คือ P. falciparum และรองลงมา คือ P. vivax โดยมียุงก้นปล่องเพศเมีย (Anopheles spp.) เป็นพาหะนำโรค ยุงชนิดนี้สามารถบินได้ไกลประมาณ 1 กิโลเมตร แหล่งเพาะพันธุ์ของยุงก้นปล่อง อยู่บริเวณภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำลำธารธรรมชาติ และออกหากินเวลาใกล้ค่ำจนรุ่งสาง

เมื่อยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัดคน มันจะปล่อยเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นประมาณ 10-14 วัน ผู้ที่ถูกกัดจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก จากนั้นอุณหภูมิร่างกายจะลดลงจนเป็นปกติ เรียกว่า ช่วงปราศจากไข้ (Apyrexia) ช่วงนี้ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนปกติทุกอย่าง แต่หลังจากนั้นอาการของผู้ป่วยจะกลับมาหนาวสั่นอีกครั้ง วนเช่นนี้เรื่อยไป โดยอาการเหล่านี้อาจเป็นในระยะสั้นเป็นวันหรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของเชื้อมาลาเรียแต่ละชนิด

ถ้าได้รับการรักษาช้า เชื้ออาจลุกลามจนเกิดภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง น้ำท่วมปอด ไตวาย จนเสียชีวิตได้!

ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเพราะมาลาเรียไม่น้อย โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา เนื่องจากผู้คนยากจนและการสาธารณสุขยังครอบคลุมไม่ทั่วถึง เป็นที่มาของไวรัลเมื่อราว 10 ปีก่อน ที่เด็กหญิงตัวน้อยอายุเพียง 5 ขวบ ดูสารคดีเกี่ยวกับทวีปแอฟริกา ทราบว่าในทุก 30 วินาทีมีเด็กแอฟริกาเสียชีวิตเพราะโรคมาลาเรีย ซึ่งวิธีที่ป้องกันมาลาเรียที่ง่ายที่สุดคือ นอนกางมุ้ง

Katherine Commale หนูน้อยผู้อดออมเพื่อการกุศล

หนูน้อยแคทเธอรีน คอมเมล จึงเก็บค่าขนมเพื่อซื้อมุ้งบริจาคหน่วยงานการกุศลที่ชื่อว่า Nothing but net และได้รับจดหมายขอบคุณกลับมาพร้อมกับแจ้งว่า เธอเป็นผู้บริจาคที่อายุน้อยที่สุด
Credit Picture : Taiwan Today

Katherine Commale หรือหนูน้อยแคทเธอรีน คอมเมล จึงเก็บค่าขนมเพื่อซื้อมุ้งบริจาคหน่วยงานการกุศลที่ชื่อว่า Nothing but net และได้รับจดหมายขอบคุณกลับมาพร้อมกับแจ้งว่า เธอเป็นผู้บริจาคที่อายุน้อยที่สุด และถ้าบริจาคมุ้งครบ 10 หลังจะได้รับใบประกาศเกียรติคุณ เธอจึงได้ความคิด วางแผนกับคุณแม่ขนหนังสือ ของเล่น เสื้อผ้าของตัวเองไปเปิดท้ายขายของ รวมทั้งรับบริจาคเงินโดยมอบใบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้บริจาค โดยมีคุณพ่อคุณแม่และน้องชายของเธอช่วยกันทำ และเธอได้เขียนข้อความด้วยลายมือว่า “เราได้ซื้อมุ้ง 1 หลังส่งไปแอฟริกาในนามของคุณ”

ไม่เพียงเพื่อนบ้านจะช่วยกันบริจาคเงิน ทางหน่วยงาน Nothing but net ทราบถึงความตั้งใจดีของเธอจึงนำเรื่องราวลงประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ และเมื่อเธอทราบว่าเดวิด เบ็คแฮ่ม ได้บริจาคเงินให้กับหน่วยงานนี้ด้วย เธอเขียนจดหมายขอบคุณส่งไปให้เขาพร้อมในประกาศเกียรติคุณด้วย

ยิ่งมีผู้บริจาคมาก แคทเธอรีนยิ่งมีกำลังใจและมุ่งมั่นที่จะขอรับบริจาคมากขึ้นๆ เพราะนั่นหมายถึงเด็กๆ ในแอฟริกาจะพ้นจากการเสียชีวิตเพราะมาลาเรีย เธอส่งจดหมายถึงบิลเกต ความว่า “คุณบิลเกตที่เคารพ ไม่มีมุ้ง เด็กแอฟริกาจะตายเพราะมาลาเรีย พวกเขาต้องการเงิน แต่เงินอยู่ที่คุณ….”

มูลนิธิบิลเกตไม่เพียงบริจาคเงิน 3 ล้านเหรียญให้กับ Nothing but net ยังได้ทำสารคดีเล่าเรื่องของเธอ แคทเธอรีนจึงมีโอกาสได้เดินทางไปแอฟริกา และเห็นว่าบรรดาเด็กๆ ต่างเขียนชื่อของเธอบนมุ้ง และเรียกมุ้งเหล่านั้นว่า “มุ้งแคทเธอรีน”

ปี 2561 แคทเธอรีนในวัย 17 ปี ได้เข้าพบประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน แห่งไต้หวัน ในขณะนั้น และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ทูตแห่งมุ้ง” ประจำทวีปแอฟริกา

สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคมาลาเรียลดลงทุกปี และกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดจากประเทศไทยในปี 2067 กระนั้นก็ยังพบการระบาดของโรคมาลาเรียอยู่ตามแนวชายแดนในป่า เกาะต่างๆและภูเขา แต่ไม่พบโรคมาลาเรียในเขตเมือง

อย่างไรก็ตามเนื่องจากโรคมาลาเรียเป็นโรคร้ายแรง และสามารถทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที จึงมีการรณรงค์ให้ทุกคนควรต้องรู้วิธีป้องกันโรคมาลาเรีย และตระหนักว่าตนเองสามารถติดเชื้อมาลาเรียได้ถ้าเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง อย่างทวีปแอฟริกา และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้.

 

สำหรับท่านที่ชื่นชอบในบทความเกี่ยวกับการใช้ชีวิต และสาระความรู้รอบตัว สามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles