มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดงานวันแห่งเกียรติยศแสดงความยินดีแก่ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot (ไอราฟ โรบอท) ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย World RoboCup Rescue 2024 โดยเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 10 และอีก 2 รางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมระดับโลก คือรางวัล Best in class mobility (รางวัลนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนยอดเยี่ยมระดับโลก) และรางวัล Best in class Dexterity (รางวัลสมรรถนะการทำงานแขนกลยอดเยี่ยมระดับโลก) เมื่อ 16-21 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผลงานหุ่นยนต์ iRAP Robot ได้สร้างชื่อเสียงในระดับโลกให้ประเทศไทยและ มจพ. แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสมัยที่ 10 มจพ. จึงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกแห่งเดียวในโลกที่เป็นแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยถึง 10 สมัย โชว์ศักยภาพหุ่นยนต์และนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมระดับโลก
และเพื่อเป็นการร่วมแสดงความยินดีและเป็นขวัญเป็นกำลังใจให้กับทีมนักศึกษาและคณาจารย์ พร้อมทั้งเชิดชูเกียรติทีมหุ่นยนต์กู้ภัยฯ การสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยและประเทศไทยในวันแห่งเกียรติยศนี้ โดยมี ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ขึ้นเวทีกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานและกล่าวแสดงความยินดีกับทีมหุ่นยนต์กู้ภัยฯ พร้อมด้วย ศ.ดร. สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี กล่าวแสดงความยินดี และ ดร.โอกาส เตพละกุล กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิและอุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นประธานกล่าวเปิดในงานวันแห่งเกียรติยศ และ คุณสุรเดช บัวทรัพย์ นายกสมาคมศิษย์เก่า มจพ. ร่วมกล่าวแสดงความยินดี มีพิธีมอบเสื้อสามารถในนามของมหาวิทยาลัยให้แก่นักศึกษา และ อาจารย์ผู้ควบคุมทีม ที่ปรึกษาทีมหุ่นยนต์กู้ภัยฯ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ มจพ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย เครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการของ มจพ. ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมมอบทุนการศึกษาพร้อมของที่ระลึก เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักศึกษาและคณาจารย์ ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยฯ โดยมีผู้แทนนักศึกษาทีมหุ่นยนต์กู้ภัยฯ กล่าวขอบคุณ ณ หอประชุมประดู่แดง วันที่ 15 สิงหาคม 2567
จุดเด่นที่ทำให้ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยคว้าแชมป์โลกในครั้งนี้มีอยู่ 2 องค์ประกอบที่บ่งบอกถึงสมรรถนะหุ่นยนต์สุดยอดเหนือชั้นจากทีมทั่วโลกประเทศอื่น ๆ ได้แก่ 1) Mobility หรือด้านการขับเคลื่อน หุ่นยนต์ของเราสามารถวิ่งผ่านสิ่งกีดขวางอย่างเช่น หิน ทราย หรือบล๊อกไม้ซึ่งเป็นการจำลองการเกิดอุบัติภัย อาคารถล่ม และ 2) Dexterity หรือด้านการใช้แขนกล หุ่นยนต์สามารถใช้แขนกลในการหยิบจับสิ่งกีดขวางหรือวัตถุในพื้นที่ประสบภัย หรือการเปิดประตูอาคาร โดยหุ่นยนต์กู้ภัยโลก สมัยที่ 10 ของ มจพ. ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งอีกครั้งบนเวทีระดับโลก และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย เป็นแชมป์โลกหุ่นยนต์ที่นานาชาติรู้จักฝีไม้ลายมือและชื่อเสียงเยาวชนไทยเป็นอย่างดี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ขอขอบพระคุณผู้ให้การสนับสนุนทุกท่าน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ และทุกส่วนงานของ มจพ. ที่ได้ให้การสนับสนุนทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot เพื่อไปร่วมแข่งขันในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นการรักษาแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยให้กับมหาวิทยาลัย ได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 10 อย่างสมศักดิ์ศรีด้วยฝีมือของเยาวชนไทยสู่มหาวิทยาลัยและประเทศชาติ