อหังการ “ต้าวเหมียว” ภัณฑารักษ์ผู้พิทักษ์งานศิลปะ-สมบัติพระคลังหลวง

Share

 

ใครเป็นทาสเหมียวยกมือขึ้น…

เป็นการยากจะปฏิเสธว่าปัจจุบันมีทาสแมวอยู่เต็มไปหมด คาดกันว่านับวันจะมีมากขึ้นๆ จากการวิเคราะห์ทางการตลาดประเมินปัจจัยที่บ่งชี้อย่างมีนัยสำคัญว่ามาจากคนเป็นโสดมากขึ้น และถึงแต่งงานก็มีลูกน้อยลงหรือไม่มีลูก เลือกที่จะเลี้ยงน้องหมาน้องแมวเป็นสมาชิกคนสำคัญของบ้าน

ข้อมูลเมื่อปี 2021 ประมาณการว่าทั่วโลกมีประชากรแมวเลี้ยงราว 220 ล้านตัว ซึ่งถือว่ามากแล้ว แต่-แต่ยังคงมีแมวจรมากกว่ามาก คือราว 480 ล้านตัว

ไม่ต้องดูอื่นไกล แค่ประเทศญี่ปุ่นก็มีเกาะแมวนับสิบเกาะ คาดว่ามีบรรดาเหมียวๆ ไม่ต่ำกว่า 9 ล้านตัว

อีกประเทศที่เป็นสวรรค์ของแมว สามารถพบเห็นน้องประจำการอยู่ในทุกหนแห่งคือ ประเทศตุรกี มีประชากรแมวมากกว่า 4.7 ล้านตัว และยังได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มีการสร้างบ้านให้อยู่ ไม่เพียงมีตู้ให้หยอดเหรียญสำหรับเลี้ยงแมวจร เทศบาลท้องถิ่นยังจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลแมวจรโดยเฉพาะ ฉะนั้นถ้าพบแมวบาดเจ็บ โทร.ตามสัตวแพทย์ได้เลยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกหนทุกแห่งทุกตัวคนจะรักแมว มีแมวจำนวนไม่น้อยที่ถูกทิ้ง ถูกทำร้าย ตลอดจนทารุณกรรมต่างๆ นานา กองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิการสัตว์ (International Fund for Animal Welfare) หรือ IFAW จึงกำหนดให้วันที่ 8 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันแมวโลก” หรือ “วันแมวสากล” กระตุ้นความตระหนักรู้เกี่ยวกับแมว และเรียนรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือและพิทักษ์รักษาแมว จากการถูกทิ้งขว้างจากเจ้าของที่ไม่มีความรับผิดชอบ

กองทัพต้าวเหมียว ผู้พิทักษ์สมบัติล้ำค่าควรเมือง

ในความเป็นจริงก่อนต้าวเหมียวจะโปรยเสน่ห์มัดใจบรรดาทาสทั้งหลายจนดิ้นไม่หลุด นางก็ร้ายมาก่อน และยังคงแอบร้ายอย่างต่อเนื่องจนทุกวันนี้

ด้วยฝีเล็บอันฉกาจฉกรรจ์ไม่เป็นรองใคร ภารกิจหนึ่งที่บรรดาเหมียวๆ จากหลายพื้นที่ได้รับมอบหมายคือ การเป็นผู้ปกป้องทรัพย์สินอันมีค่าของมนุษย์มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เช่น การจัดการหนูที่มากัดกินทำลายพืชผลทางการเกษตร กฎหมายอียิปต์โบราณจึงบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดฆ่าหรือทำร้ายแมวจะต้องถูกประหาร

อย่างที่ “พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม” (Forbidden City) หรือ กู้กง ในกรุงปักกิ่งของจีน พื้นที่ 720,000 ตารางเมตร ใหญ่กว่าพระราชวังลูฟร์ในฝรั่งเศสถึง 3 เท่า มีแมวผู้พิทักษ์มากกว่า 200 ตัว ล้วนเป็นลูกหลานของแมวหลวงที่เลี้ยงมาตั้งแต่ปลายราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911)

แต่ละวันนอกจากจะมีคนส่งอาหารแมวมาให้ เพราะเห็นถึงความสำคัญของ รปภ.เหมียวเหล่านี้ที่ต้องทำงานอย่างหนักคอยลาดตระเวนปกป้องพระราชวังอันศักดิ์สิทธิ์จากบรรดาหนูๆ ยังมีด้อมเหมียวแอบมาเก็บภาพน้องๆ ไปอวดกันบนโลกโซเชียล สิ่งที่ตามมาคือ สินค้าของที่ระลึกรูปต้าวน้องที่ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

อีกสถานที่สำคัญที่บรรดาเหมียวๆ ได้รับการเชิดชูว่ามีคุณูปการแก่เจ้าบ้าน ถึงขนาดมีการบันทึกวีรกรรมอันห้าวหาญในประวัติศาสตร์ มีการสร้างอนุสาวรีย์ให้คือ “พิพิธภัณฑ์พระราชวังฤดูหนาว” (State Hermitage Museum) ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย พิพิธภัณฑ์ที่บันทึกในกินเนสส์บุ๊คว่า เป็นหอศิลป์ที่มีงานศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีงานสะสมมากชิ้นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีงานศิลปวัตถุมากถึง 3 ล้านชิ้น ที่ประทับของพระนางแคทเธอรีนที่ 2 มหาราช (ค.ศ.1741-1761)

ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าจะมีการขนย้ายสิ่งของมีค่าชิ้นสำคัญๆ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ออกไปยังเทือกเขาอูราล แต่ก็เป็นบางส่วนเท่านั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ตัวห้องจัดแสดงจะกลายเป็นห้องหลบภัยจำเป็น เมืองเลนินกราด (ชื่อเดิมของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) ที่ถูกปิดล้อมอยู่นาน 880 วัน แทบเป็นเมืองร้าง ผู้คนในเมืองถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ต้องพยายามหาทางรอด ใช้ชีวิตอยู่อย่างอดอยากยากแค้น ไม่มีการ์ดสี่ขาผู้คอยปกป้องงานศิลปะอันล้ำค่าของเมืองอีกแล้ว

ชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์เต็มไปด้วยกองทัพหนู กัดแทะทำลายสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ ผนัง สายสื่อสาร รวมทั้งงานศิลปะล้ำค่า ซ้ำยังเกิดโรคระบาดจากหนูอีก กล่าวได้ว่าพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของเมืองตกอยู่ในภัยคุกคามโดยแท้

หลังสงครามจบลง ชาวเมืองในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสหภาพโซเวียตทราบถึงปัญหานี้ จึงตกลงใจส่งแมวของตนเข้าร่วมทำหน้าที่เป็นกองหน้าออกโรมรันรบสู้กับกองทัพตัวจี๊ด ในปี 1945 ขบวนรถไฟจากเมืองตูย์เมน ออมสค์ และอีรคุตสต์ พร้อมกับแมว 500 ชีวิตเดินทางไปรวมพลกันที่เมืองตูย์เมน โดยมีปลายทางที่เมืองเลนินกราด

แล้วก็ไม่ผิดหวัง สามารถกระชับพื้นที่ คืนความสงบกลับมาให้กับเมืองอีกครั้ง เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์อันห้าวหาญ ณ เมืองเลนินกราด จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นในสวนสาธารณะใจกลางเมืองตูย์เมน สวนที่รู้จักกันในชื่อ “จัตุรัสแมวไซบีเรีย”

แน่นอนว่า ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กก็มีอนุสาวรีย์แมวเหมียวผู้พิทักษ์พระราชวังแห่งนี้เช่นกัน ตั้งอยู่บนถนนคนเดิน Malaya Sadovaya…ต้องยกนิ้วให้กับกองทัพต้าวเหมียวทุกตัว

 

สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่

rabbit2themoon

rabbit2themoon

คอลัมนิสต์หน้าไม่ใหม่ เคยพำนักอยู่ใต้ชายคามติชน ประจำกอง บก.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก่อนขยับมาเป็นผู้สื่อข่าวเซ็กชั่นประชาชื่น เขียนสัมภาษณ์บุคคล-สกู๊ปเชิงไลฟ์สไตล์-ท่องเที่ยว-อาหาร-จิปาถะ สถานะปัจจุบัน นอกจากเป็นคอลัมนิสต์ ยังเป็นนักเขียนอิสระ เขียนบทความเชิงประชาสัมพันธ์

Related Articles