สังเกตไหมว่า แค่มีเสียงเพลง บ้านทั้งหลังก็ soft ลง ความเหงาหงอยถูกขับให้จางหายไป
การร้องเพลงนอกจากช่วยเอ็กเซอร์ไซส์ปอด ยังช่วยบริหารสมองในส่วนความทรงจำได้เป็นอย่างดี โดยไม่จำกัดว่าต้องอยู่ในวัยใด
อีกประโยชน์สำคัญคือ ลดความเสี่ยงอาการสมองเสื่อมในผู้สูงวัย รวมถึงช่วยกระตุ้นความทรงจำที่หายไปในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เพราะดนตรีสามารถเชื่อมถึงความทรงจำระยะยาวในสมองได้ ช่วยกระตุ้นให้ย้อนรำลึกถึงห้วงเวลาหนึ่งในวันเก่าครั้งก่อน เช่นเดียวกับการไปสถานที่ที่คุ้นเคย
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ตัวเลขกลุ่มผู้สูงอายุในปัจจุบันมีมากกว่า 13.64 ล้านคน และในอีก 16 ปีข้างหน้าคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว กลุ่มคนเหล่านี้จะกลายเป็นคนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย และสุดท้ายคือไม่มีคนสนใจเหลียวแล หากมีอายุยืนจากการดูแลสุขภาพดีกินดีมีโรงพยาบาลดีหมอดีการดูแลรักษาร่างกายดี คนแก่เหล่านี้จะมีอายุยืนยาวไปถึง 90 ปี จึงเกิดคำถามที่ว่าจะดูแลคุณภาพชีวิตประชากรสูงวัย 20 ล้านคนนี้อย่างไร?
“เสียงเพลง” คือคำตอบ! เป็นที่มาของโครงการดนตรีพลังบวกปล่อยแก่ ซึ่งเป็นวงขับร้องประสานเสียง เริ่มต้นจากวงปล่อยแก่บ้านคา จ.ราชบุรี กิจกรรมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ปัจจุบันวงคอรัสสูงวัยขยายเครือข่ายไปอย่างต่อเนื่องใน 12 จังหวัด รวม 13 วง ได้แก่ ยะลา ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี บุรีรัมย์ นครสวรรค์ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา รวมถึงตัวแทนวงปล่อยแก่กรุงเทพมหานคร จากชมรมสายใจ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 25 คน นับเป็นต้นแบบของการทำวงปล่อยแก่ในรูปแบบองค์กร และเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ที่จะเกษียณอายุและนำผู้ที่เกษียณอายุไปแล้วกลับเข้าสู่องค์กรในบทบาทใหม่อีกครั้ง
รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และผู้อำนวยการวงปล่อยแก่ บอกว่า ต้องยอมรับว่าไม่คาดคิดว่าวงปล่อยแก่จะมาได้ไกลถึงขนาดนี้
“ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่เคยถูกมองว่าไร้ค่าในสังคม เมื่อได้มาเข้าร่วมในวงปล่อยแก่ กลับพบว่า มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีความสุข มีพลังในการดำเนินชีวิต เห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น”
ล่าสุด หนึ่งในความสำเร็จที่น่ายินดีคือ “วงปล่อยแก่ประเทศไทย Let’s be young” คณะนักร้องประสานเสียงกลุ่มผู้สูงวัย เข้าร่วมแข่งขันชิงชัยในการประกวดมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทย 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2567 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ควบคุมวงโดย “ครูโอม” นายเกื้อกูล เดชมี ผู้ควบคุมวง ได้รับ “เหรียญเงิน” จากการประกวด ไม่เพียงสร้างความภาคภูมิใจแก่คณะสมาชิก ยังเป็นความทรงจำที่งดงามบนเวทีอันทรงเกียรติแห่งนี้อีกด้วย
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บอกว่า โครงการ “วงปล่อยแก่” นับเป็นการนำองค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) และดนตรีบำบัด (Music Therapy) มาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง และเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคม
จากการใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พบว่า โครงการ “วงปล่อยแก่” มีส่วนช่วยลดระดับความเครียดและภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการดูแลตนเองและการอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้สูงอายุ
ในอนาคต วช. มีแผนที่จะขยายผลโครงการ “วงปล่อยแก่” ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ผู้สูงอายุในชนบท ผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้จากโครงการไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะเสียงเพลงคือยาวิเศษ ไม่เพียงดูแลสุขภาพที่ดี แต่ยังสร้างสังคมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุอีกด้วย.
สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่