ในต่างประเทศมีการใช้สัตว์บำบัด (Pet Therapy) มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสุนัข ม้า โลมา นก ฯลฯ หรืออย่าง น้องเหมียวที่ญี่ปุ่นใช้ในการเยียวยาจิตใจมาเป็น 10 ปีแล้ว ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยออทิสติก โดยเฉพาะผู้ป่วยซึมเศร้า
แค่การได้ลูบขนนุ่มๆ ก็กระตุ้นการหลั่งของสารเอ็นโดรฟิน สารแห่งความสุข ทำให้จิตใจอ่อนยวบ เข้าสู่โหมดของการผ่อนคลาย ขณะเดียวเสียงกรนของแมว หรือที่เรียกกันว่า เสียงเพอร์ (Purr) ด้วยความถี่ของเสียงอยู่ที่ 20-140 เฮิร์ต ยังมีคุณสมบัติช่วยในการฟื้นฟูสุขภาพจิตใจให้กับมนุษย์
เหตุนี้จึงไม่แปลกที่จะมีการนำ “แมว” มาใช้เพื่อการปรับพฤติกรรมของผู้ต้องขัง เตรียมความพร้อมก่อนได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เพื่อลดความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ
ยิงปืนนัดเดียวได้นกทั้งฝูง
เรือนจำที่ว่าคือ เรือนจำเพนเดิลตัน ที่รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา เป็นความร่วมมือกับมูลนิธิ Animal Protection League of Indiana จัดทำโครงการ FORWARD นำแมวจากศูนย์พักพิงสัตว์จรมาเตรียมความพร้อมผู้ต้องขังก่อนที่จะได้รับอิสระกลับคืนสู่สังคม ซึ่งผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการจะต้องดูแลแมวกว่า 20 ตัว วันละ 6 ชม. และ 7 วันต่อสัปดาห์ โดยได้รับค่าตอบแทน ชม.ละ 20 เซนต์
หน้าที่คือ ทำทุกอย่างเท่าที่ทาสคนหนึ่งต้องทำ ตั้งแต่ให้อาหาร ทำความสะอาดกระบะทราย ไปจนถึงเล่นกับแมว!
ต้องบอกว่า “ไม่ง่าย” เพราะน้องแมวส่วนมากเป็นแมวที่ถูกทิ้ง ถูกทารุณกรรม มีความหวาดระแวงสูง จึงต้องการความรักความเอาใจใส่เพื่อให้มันกลับมาเชื่อใจมนุษย์ได้อีกครั้ง ซึ่งตัวแมวเองก็เป็นโอกาสได้ปรับพฤติกรรมทางด้านอารมณ์เพื่อรอทาสคนใหม่รับไปเลี้ยงดู
ทั้งนี้ โครงการเลี้ยงสัตว์ในเรือนจำเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 เพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ หรืออัตราที่ผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยตัวกลับกระทำความผิดอีกครั้ง โครงการนี้เริ่มต้นด้วยการมุ่งเน้นไปที่สุนัขเป็นหลัก แต่ต่อมาได้ขยายขอบเขตครอบคลุมไปถึงแมว และม้าในบางกรณี
โมนิกา โซลินาส-ซอนเดอร์ส รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยอินเดียนา ซึ่งทำงานวิจัยมุ่งเน้นไปที่การคุมขังและการฟื้นฟูผู้กระทำผิด กล่าวว่าโปรแกรมดังกล่าวมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและพัฒนาการทางอารมณ์ของผู้ต้องขังอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากการฝึกให้รู้จักความรับผิดชอบ และเรียนรู้ความอ่อนโยนต่อสัตว์ ที่เกิดจากความผูกพันกันระหว่างคนกับสัตว์ ยังส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นภายในสถานที่ ระหว่างผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นๆ ที่ถูกคุมขัง และระหว่างผู้กระทำผิดกับเจ้าหน้าที่และผู้บริหาร ยังเห็นถึงความฉลาดทางอารมณ์ และทักษะการรับมือที่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสความพร้อมในการทำงาน และเป็นปัจจัยสำคัญในการกลับเข้าสู่สังคมได้สำเร็จและลดการกระทำผิดซ้ำซาก
เธอกับฉัน เรามีกันและกัน
Tori Kypreos หัวหน้าโครงการของเรือนจำเพนเดิลตัน ได้เฝ้าดูผู้ต้องขังดำเนินโครงการและพัฒนาผลที่ตามมา บอกว่า การดูแลบรรดาเหมียวสอนให้พวกเขามีความรับผิดชอบ
“แมวต้องพึ่งพาพวกเขาอย่างมาก ดังนั้นเพียงแค่เห็นว่าพวกเขามีความตั้งใจ เข้ามาทุกวันเพื่อช่วยและดูแลแมวเหล่านี้ เฝ้าดูแมวค่อยๆ เติบโตขึ้นก็มีความสำคัญมาก”
ทางด้าน โจเซฟ โคลแมน หนึ่งในผู้ต้องขังที่เข้าโครงการบอกว่า “แมวทำให้ผมมีเป้าหมายที่จะตื่นขึ้นมาในทุกเช้า พวกมันต้องการใครสักคนเหมือนที่ผมต้องการมัน เมื่อได้มาอยู่ที่นี่กับแมว ไม่ได้คิดถึงการออกไปข้างนอกเลย”
ขณะที่ผู้ต้องขังบางคนยอมรับว่า พวกเขาหลายต่อหลายคนยอมแพ้ในชีวิตไปแล้ว รวมถึงตัวผู้พูดด้วย เมื่อมีบรรดาน้องเหมียว ทำให้รู้สึกอยากลุกขึ้นสู้ดูอีกสักครั้ง.
สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่