ความลับและพลังแห่งสมดุลของศาสตร์ “โยคะ”
“ความเครียด” เป็นบ่อเกิดของสารพัดโรค โดยเฉพาะทุกวันนี้ด้วยสภาวะแวดล้อมที่ถูกบีบรัด กดทับด้วยเศรษฐกิจและความรับผิดชอบต่างๆ รอบด้าน การรู้จักการบริหารจัดการความเครียดจึงสำคัญ โยคะเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่ช่วยได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง…
ปีนี้วาระ วันโยคะสากล (International Yoga Day) ใน กอทอมอ ดูคึกคักยิ่ง แม้ไม่ได้มีการเฉลิมฉลองแต่อย่างใด แต่ที่สวนเบญจกิตติเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยพลังแห่งความแข็งแกร่ง เมื่อผู้ว่าฯ กทม.ใหม่หมาดขยับเข้าไปร่วมยืดเหยียดบนเสื่อสีชมพูกับกลุ่มโยคะ เชิญชวนให้ทุกคนก้าวเท้าออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน นั่งเสพดนตรี ออกกำลังกาย จะวิ่งรอบสวนสาธารณะ เล่นโยคะ ฝึกชี่กง หรือเต้นแอโรบิค ล้วนเป็นประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น
การเล่นโยคะนอกจากการยืดเหยียดคลายเส้นที่เขม็งตึง โดยเฉพาะคอ-บ่า-ไหล่ บริเวณยอดนิยมของสายออฟฟิศซินโดรมแล้ว การฝึกการหายใจอย่างถูกวิธีเป็นการบริหารปอด เพิ่มออกซิเจนในเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย
ที่สำคัญคือ การฝึกจิตให้จดจ่อกับลมหายใจที่เข้า-ออกอย่างช้าๆ สร้างสมาธิ รักษาความสมดุลของระบบสารสื่อประสาท ทำให้สมองผ่อนคลาย ลดความเครียด ระดับการเต้นของหัวใจที่ช้าลงและเมื่อฝึกจนถึงระดับหนึ่งจิตจะนิ่งไม่ต่างจากห้วงเวลาที่หลับลึก ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน ชะลอการเสื่อมของเซลล์ เป็นผลให้แลดูอ่อนเยาว์
ถ้าย้อนกลับไปดูจุดตั้งต้นของ “โยคะ” จะเห็นว่ามาไกลมาก!
จากเดิมที่เป็นวิถีแห่งการฝึกตน ถือกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดียเพื่อการเข้าถึงความเป็นปรมัตถ์ มีการจารึกเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับโยคะลงบนหิน ไม้ และวัสดุต่างๆ พร้อมกับสอนกันปากต่อปาก แม้ว่าต่อมา ปตัญชลี นักปราชญ์ชาวฮินดู ได้นำความรู้เหล่านั้นมาปรับปรุงเป็นแนวทางการฝึกโยคะขั้นพื้นฐานเป็นคนแรก โดยเขียนสูตรของการฝึกโยคะเป็น 8 หัวข้อ ตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตกาล แต่ก็ใช้ฝึกกันเฉพาะกลุ่มคนชนชั้นพราหมณ์
กระทั่งนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียพยายามผลักดันให้โยคะเป็นที่รู้จักและนิยมปฏิบัติไปทั่วโลก ที่สุดในการประชุมสหประชาชาติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 สมาชิกกว่า 177 ประเทศทั่วโลก เห็นชอบให้กำหนดให้ทุกวันที่ 21 มิถุนายน เป็น “วันโยคะสากล” โดยเริ่มขึ้นในปี 2558 เป็นปีแรก
นับแต่นั้นมาการฝึกโยคะเป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างมากในอินเดีย ในฐานะเป็นเครื่องมือสร้างสมดุลระหว่างร่างกาย อารมณ์และจิตใจ ประจวบกับเป็นห้วงเวลาของลมพัดหวน โลกหันมาให้ความสนใจกับศาสตร์แห่งตะวันออกมากขึ้น การฝึกโยคะจึงค่อยๆ เผยแพร่ไปทั่วโลกในบทบาทของแนวทางการดูแลสุขภาพใหม่แบบองค์รวม
การฝึกโยคะเป็นกระบวนการสำหรับฝึกกาย ฝึกการหายใจ และฝึกจิตให้มีความจดจ่อกับลมหายใจเข้าออก อันจะนำไปสู่การมีสมาธิที่ดีขึ้น นักวิจัยในนอร์เวย์ วิเคราะห์ตัวอย่างเลือดจากอาสาสมัคร 10 คน ทั้งก่อนและหลังการฝึกโยคะแบบสอดคล้องไปกับจังหวะลมหายใจใช้เวลา 2 ชั่วโมง พบว่ามีความสัมพันธ์กับเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส หรือยูซีแอลเอ ที่ศึกษาผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม ค้นพบว่า โยคะช่วยลดหรือกดการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บซับซ้อนหลายอย่าง
การฝึกโยคะช่วยลดฮอร์โมนคอร์ติซอล ที่มักจะหลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียด โดยเคสการศึกษาพบว่าการฝึกโยคะสัปดาห์ละ 1 ครั้งเป็นเวลา 2 ปียังลดสารที่ทำให้เกิดการอักเสบได้ถึง 41% ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนเพศ
การเล่นโยคะอย่างน้อย 1 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้สมองหลั่งสารกาบา (GABA) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งทำหน้าที่รักษาความสมดุลของระบบสารสื่อประสาท ช่วยให้สมองผ่อนคลาย ลดความเครียด ลดอาการกระวนกระวายใจ ช่วยให้หลับง่ายขึ้น โดยเพิ่มขึ้นได้ถึง 27%
ทั้งยังช่วยให้ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) และฮอร์โมนดีเอชอีเอ (DHEA hormone) ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้ช่วยให้ผิวพรรณดูอ่อนเยาว์ มีพลัง กระฉับกระเฉงอยู่ตลอดเวลา
โยคะจึงตอบโจทย์มนุษย์อย่างเรา-เรา ที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพ์นานๆ กดหน้าไถสมาร์โฟนวันละหลายๆ ชั่วโมง รวมไปถึงคอซีรีย์ที่นั่งหรือนอนอยู่ในท่าเดียวเป็นประจำ เป็นต้น
เพียงแต่…ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคความดัน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ควรปรึกษาแพทย์ หรือครูฝึกที่ได้รับการอบรมก่อนการฝึก เพราะในท่าแต่ละท่าจะมีบางจุดที่อาจเป็นอันตรายกับโรคบางโรคได้.