ภาคตะวันออกของประเทศไทย แม้จะนับเป็นที่ “หยั่งราก“ แหล่งที่สองของ “ต้นยางพารา“ พืชเศรษฐกิจของประเทศไทย และปลูกในพื้นที่ที่ไม่กว้างใหญ่มากนักเมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคอื่นๆ
สิ่งสำคัญที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกต้นยางพาราซึ่งไม่แพ้มูลค่าการส่งออก คือ “ค่าคาร์บอนเครดิต“ หรือตัวเลขของการ “ปล่อย“ หรือ “กักเก็บ“ ก๊าซเรือนกระจกในระดับโครงการ (Project Base) ซึ่งวัดออกมาเป็นหน่วยของ “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า“ ที่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้สามารถซื้อขายเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณฑิรา ยุติธรรม ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเมืองน่าอยู่และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน“ ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม “สมการเพื่อการประเมินค่าคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ปลูกยางพารา“ ภายใต้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
เหตุผลที่เลือกศึกษาการประเมินค่าคาร์บอนเครดิตในยางพารา เนื่องจากเป็นต้นไม้ยืนต้นที่มีอายุยาวนานมากกว่า 20 ปี อีกทั้งเคยมีการศึกษาว่าหากเปรียบเทียบปริมาณการกักเก็บคาร์บอนระหว่างพื้นที่ปลูกยางพารา กับป่าเสื่อมโทรมในประเทศไทย จะพบปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ปลูกยางพาราสูงกว่า
เดิมการสำรวจพื้นที่เพื่อประเมินค่าคาร์บอนต้องสิ้นเปลืองทั้งกำลังทรัพยากรมนุษย์และงบประมาณ ทีมวิจัยจึงได้คิดค้นและพัฒนา “สมการเพื่อการประเมินค่าคาร์บอนเครดิต“ ที่คำนวณจากขนาดพื้นที่ และอายุของยางพารา เพื่อหาค่าเฉลี่ยของปริมาณการกักเก็บก๊าซคาร์บอน ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับมาเป็นตัวช่วยสำคัญในการเก็บข้อมูล ซึ่งทำให้สามารถประหยัดได้ทั้งกำลังทรัพยากรมนุษย์และงบประมาณ
ซึ่งตามข้อมูลโดย การยางแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 พบพื้นที่ปลูกต้นยางพาราในภาคตะวันออกของประเทศไทย สายพันธุ์ RRIM 600 RRIT 251 ประมาณ 2 ล้านไร่ มีการกักเก็บคาร์บอนที่อยู่ในดินประมาณ 16.19 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ที่ระดับความลึกของดิน 0 – 50 เซนติเมตร มีการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือดิน 19.66 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกยางพารา 1.93 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณฑิรา ยุติธรรม กล่าวต่อไปว่า การศึกษาในระยะแรกจะแยกเก็บข้อมูลตามช่วงอายุของต้นยางพารา โดยแยกเป็นอายุ 1 ปี 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี โดยมีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมเก็บข้อมูลในทุกมิติ จากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้เก็บน้ำยาง ศูนย์รับซื้อน้ำยาง สหกรณ์รับซื้อผลิตภัณฑ์ยาง ฯลฯ
และในอนาคตจะได้มีการต่อยอดเพื่อศึกษาแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเชิงลึก เพื่อเสนอ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สู่การประยุกต์ใช้จริงระดับนโยบายในภาคอื่นๆ ของประเทศไทยต่อไป
ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความตระหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สร้างผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยสำคัญที่คอยชี้ชะตาการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบได้ต่อไปในอนาคต