ภาพตลาดสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อ Tesla ประกาศราคาค่าบริการสถานีชาร์จความเร็วสูงที่ 10.10 บาทต่อ kWh. แถมพ่วงค่าปรับกรณีจอดแช่
จากประกาศครั้งล่าสุดของ Tesla อย่างเป็นทางการ เรื่องอัตราค่าบริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าความเร็วสูง Tesla Supercharge ที่กำลังขยายฐานออกสู่ต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น โดยราคาค่าบริการอย่างเป็นทางการของการชาร์จไฟฟ้าที่มีอัตราความเร็วสูงสุด 250 kWh. จากเดิมที่ปล่อยให้ผู้ใช้รถยนต์ Tesla ทุกรุ่นใช้ฟรีมาหลายเดือน
EV Charging Station Fare อัตราใหม่ ทำหัวใจว้าวุ่น
ด้วยอัตราค่าชาร์จที่ 10.10 บาทต่อ kWh. เล่นเอาผู้ใช้บริการรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่หากอ่านทีแรกก็ต้องตกอกตกใจ ทำไมแพงจัง ทั้งที่มีผู้ให้บริการหลายรายก็คิดอัตราค่าบริการในช่วง On Peak ในสถานีชาร์จทั่วไปที่ 10 บาทต่อ kWh เหมือนๆ กัน แต่อัตราความเร็วส่วนใหญ่นั้นคือไม่เกิน 150 kWh เท่านั้นเอง
ที่ว้าวุ่นใจมากไปกว่านั้นสำหรับคนที่เห็นก็คือ อัตราค่าปรับที่เป็นที่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยส่วนใหญ่จะออกแนวชื่นชมก็คือ เมื่อถึงกำหนดเวลาในการชาร์จตามปริมาณที่ตั้งไว้ เช่นหากตั้งให้ Tesla ของคุณรับการชาร์จแค่ 80% หลังจากระบบชาร์จตัดการทำงาน ภายใน 5 นาทีเจ้าของรถจะต้องรีบเดินมาปลดสายชาร์จแล้วออกไปหาที่จอดรถใหม่ มิฉะนั้นจะต้องเสียค่าปรับ
อัตราค่าปรับแยกเป็น 2 ปัจจัย อย่างแรกคือถ้าสถานีชาร์จยังไม่ถูกใช้งานเต็มทุกช่อง จะคิดค่าปรับนาทีละ 12 บาท ตกชั่วโมงละ 720 บาท แต่หาก ณ ช่วงเวลานั้น สถานีชาร์จมีการใช้งานเต็มทุกช่อง จะคิดค่าปรับนาทีละ 24 บาท ตกชั่วโมงละ 1,440 บาท เรียกว่าถ้าผู้ใช้ที่หัวหมอคิดว่าจะจอดแช่ปล่อยชาร์จยาวๆ ไป อาจสลบเพราะค่าบริการก็ได้
มุมมองตลาดสถานีชาร์จ ที่อาจคลาดเคลื่อน
ที่ผ่านมา แม้ว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ในระดับที่มีการขยายตัวแบบ 2-3 เท่าตัว แต่หากมองในมุมของธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้านั้น ตัวเลขที่หายไปส่วนหนึ่งคือบริการชาร์จไฟฟ้าฟรีของ Tesla ทำให้ไม่สามารถคำนวณความต้องการจริงได้อย่างแม่นยำ
แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าการมีรถยนต์ไฟฟ้า ควรมีการชาร์จไฟได้จากที่บ้านก็ตาม แต่สำหรับประเทศไทย การพึ่งพาสถานีชาร์จไฟสาธารณะ โดยเฉพาะกับ Tesla Supercharge ได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะความฟรีเป็นหลัก นอกจากเรื่องของความเร็ว เพราะชาร์จเร็วกว่าที่บ้านแน่นอน
อีกประเด็นคือ ผู้ใช้รถไฟฟ้าที่อยู่คอนโด หลายรายมีปัญหาเรื่องการติดตั้ง Wall Charge ก็ต้องอาศัยการขับไปชาร์จที่ Supercharge ที่ใกล้บ้านที่สุด ทำให้ห้างสรรพสินค้าต่างๆ รอบเมืองที่มี Tesla Supercharge กลายเป็นที่พบปะสังสรรค์ของชาว Teslaster ในการพูดคุยแลกเปลี่ยน อวดของเล่น ป้ายยาของแต่งให้กับเพื่อนคอเดียวกันได้เพลินๆ
โดยสรุปคือในช่วง 8-9 เดือนที่ผ่านมา จึงไม่สามารถหยิบจับตัวเลขของรถยนต์ Tesla ในประเทศไทยมาประเมินสภาวะตลาดสถานีชาร์จไฟโดยรวมของธุรกิจได้มากนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่มีภาพชัดเจนว่าจะเดินหน้าพัฒนาบริการที่สมน้ำสมเนื้ออย่างไรดี ทั้งในแง่ของความเร็วของตู้ชาร์จและอัตราค่าบริการ เพราะมีตัวเลขที่หายไปจากการเปิดให้บริการชาร์จฟรีของ Tesla อยู่จำนวนหนึ่ง ทำให้ประเมินได้ยากขึ้น
สำรวจตลาด EV Charging Station Fare การแข่งขันเริ่มชัดขึ้น
เมื่อ Tesla Official ได้ออกมาประกาศราคาค่าบริการอย่างเป็นทางการ เราเลยจะมาลองวิเคราะห์ เพื่อดูความคุ้มค่าของการจ่าย 10.10 บาทต่อ kWh เพราะหากมองในตลาด นี่คือค่าบริการที่แพงที่สุด แต่หากเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ ที่มีการคิดค่าบริการแบบ On Peak อัตรานี้จะแพงกว่าแค่ไม่ถึง 1%
แต่ถ้าเทียบในเรื่องของอัตราความเร็วในการชาร์จ ขออนุญาตนำเอาความเร็วสูงสุดมาเปรียบเทียบ Tesla Supercharge ให้บริการด้วยความเร็วสูงสุดที่ 250 kWh ในขณะที่ปัจจุบันผู้ให้บริการทั่วไปมีความเร็วสูงสุดที่ 150 kWh ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วต่างกัน 67%
เพื่อให้เห็นภาพ แบตเตอรี่ของ Tesla Model 3 มีขนาดประมาณ 75 kWh หากเข้าชาร์จกับ Tesla Supercharge โดยคิดอัตราความเร็วที่ 70% ของความสามารถ จาก 0-100% จะใช้เวลาประมาณ 43 นาที ในขณะที่เมื่อนำไปชาร์จกับสถานีทั่วไปในอัตรา 70% ของ 150 kWh จะต้องใช้เวลาถึง 72 นาที เท่ากับต่างกันประมาณ 30 นาที
หากคิดเป็นเงินแบบแรกจะคิดเป็นเงินประมาณ 758 บาท ส่วนแบบหลังนั้นอยู่ที่ประมาณ 675 บาท ต่างกัน 83 บาท ขึ้นอยู่ว่าคุณรับค่า Premium ที่เพิ่มขึ้นมาได้หรือไม่ เพราะนอกจากจะเร็วกว่ากันแล้ว ต้องบอกอีกอย่างว่าวันนี้ หากคุณเลือกชาร์จกับ Tesla Supercharge ส่วนใหญ่น่าจะมีที่ว่างมากกว่า หรือรอไม่นานเท่ากับสถานีอื่นๆ
โจทย์เรื่องนี้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสถานีบริการแบรนด์อื่นอย่างไร ประเด็นแรกคือ ความเร็วในการชาร์จเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น Shell Recharge ที่กำลังขยายตัวไปตามสถานีบริการน้ำมันของแบรนด์ โดยติดตั้งตู้ชาร์จที่มีความเร็ว 180-190 kWh ในอัตราค่าบริการที่ 9 บาทต่อหน่วย
เงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลง ทั้งค่าปรับและช่วงเวลาการชาร์จ
นอกจากที่ Tesla Official ได้ออกมาประกาศราคาค่าบริการชาร์จไฟที่ 10.10 บาทแล้ว ยังมีการประกาศอัตราค่าปรับของการเสียบแช่หลังเสร็จสิ้นการชาร์จ โดยปัจจุบันมี 2 รายที่ประกาศค่าปรับสำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ปลดสายชาร์จหลังการชาร์จเสร็จสิ้น หรือที่เรียกว่า เสียบแช่นั่นเอง
Tesla Official ประกาศอัตราปรับแยกเป็น 2 กรณี ในกรณีแรกคือ ถ้าสถานีชาร์จยังไม่เต็ม พอมีที่ว่างเหลือสำหรับผู้ใช้คนอื่น จะคิดค่าปรับนาทีละ 12 บาท ตกชั่วโมงละ 720 บาท แต่หาก ณ ช่วงเวลานั้นสถานีชาร์จเต็มแบบ 100% คือไม่มีช่องเหลือ จะคิดค่าปรับสูงขึ้น เป็นนาทีละ 24 บาท ตกชั่วโมงละ 1,440 บาท
ส่วนของ Shell Recharge กำหนดค่าปรับภายใน 10 นาทีแรกที่ 10 บาท ส่วนเกิน 10 นาทีขึ้นไปคิดชั่วโมงและ 50 บาท
ซึ่งหากมองกันตามสภาพของพื้นที่การให้บริการ ก็ต้องบอกว่าอัตราค่าปรับนี้ก็ไม่ได้โหดเหี้ยมเหมือนจะปล้นผู้ใช้บริการ เพราะ 99% ของพื้นที่ให้บริการของ Tesla Supercharge คือห้างสรรพสินค้าอย่างกลุ่ม Central ซึ่งปัจจุบันมีรถเข้ามาใช้บริการมากอยู่แล้ว รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะแบรนด์ Tesla เช่นกัน
แต่สำหรับสถานีของ Shell Recharge เองซึ่งเดิมเป็นสถานีบริการน้ำมัน อัตราค่าปรับปริมาณนี้ เรียกว่าปรับพอเป็นพิธีซะมากกว่า
ในความเป็นจริง เรื่องค่าปรับส่วนหนึ่งอาจจะเป็นกุศโลบาย เพื่อให้มีการหมุนเวียนการใช้บริการช่องชาร์จได้อย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้มีการจอดแช่ เพราะหากไม่มีการการปรับ ผู้ใช้ที่ชาร์จเต็มแล้ว อาจไม่นำรถออก ทำให้ผู้ที่ต้องการใช้บริการรายต่อไปไม่สามารถเข้าช่องจอดได้
การเปลี่ยนแปลงอีกเรื่องที่ยังคงเป็นประเด็นคือ PTT EV Station Pluz ที่มีการประกาศช่วงเวลาที่สามารถเข้าใช้บริการสำหรับหนึ่งการชาร์จ จากที่ระบบจะตัดการทำงานทุก 55 นาที กลายเป็นลดลงเหลือเพียง 27 นาทีเท่านั้น ซึ่งในมุมของการทำธุรกิจ เรื่องนี้อาจเป็นกลยุทธ์ที่ต้องการเพิ่ม Turn Over ในแง่ของจำนวนการเข้าใช้บริการ
แต่ถ้าเทียบในมุมมองผู้ใช้ 27 นาทีกับการชาร์จกับตู้ที่มีประสิทธิภาพความเร็วที่ 120 kWh แถมถ้าเข้าใช้บริการพร้อมกันความเร็วจะเหลือเพียงครึ่งเดียว นั่นหมายความว่าต่อรอบเวลาใหม่รถยนต์ส่วนใหญ่จะได้ไฟที่ประมาณ 38 kW จากเดิมที่ 77 kW นี่คือกรณีที่เข้าชาร์จคันเดียว
สุดท้ายหลังจากนี้ไปจนถึงช่วงปีใหม่ เราอาจได้เห็นการปรับฐานทั้งในเรื่องการพัฒนาบริการของแบรนด์สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าค่ายต่างๆ ว่าจะมีการอัพเกรดและปรับราคากันอย่างไรบ้าง อีกเรื่องคือจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายในการให้บริการกันหรือไม่ อย่างไร
สำหรับผู้อ่านที่ติดตามและสนใจในเรื่องของ ยานยนต์ไฟฟ้า และ พลังงานรูปแบบใหม่ สามารถติดตามได้จาก ที่นี่