มูลนิธิอาเซียน และ Google.org จัดเวทีขับเคลื่อนความรู้ด้าน AI

Share

 

มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) โดยการสนับสนุนจาก Google.org ประกาศความสำเร็จในการจัดการประชุมนโยบายระดับภูมิภาคว่าด้วยความพร้อมด้าน AI ณ สำนักงานใหญ่อาเซียน/สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 ถือเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินงานโครงการ AI Ready ASEAN ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานสำคัญเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมความรู้ด้าน AI และผลักดันนวัตกรรมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค

ในการประชุมระดับภูมิภาคครั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และหน่วยงานพันธมิตรในพื้นที่จากทั่วภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมหารือแนวทางความร่วมมือในการพัฒนากรอบการกำกับดูแลและข้อริเริ่มเชิงนโยบาย เพื่อผลักดันการใช้ประโยชน์จาก AI อย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมทั้งลดช่องว่างด้านความรู้เกี่ยวกับ AI เพื่อปลดล็อกโอกาสต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายหน่วยงานสำคัญที่เข้าร่วม ได้แก่ Stella Christie รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย, Nararya S. Soeprapto รองเลขาธิการอาเซียนฝ่ายกิจการชุมชนและองค์กร, เอกอัครราชทูต Bovonethat Douangchak ประธานคณะกรรมการมูลนิธิอาเซียนและผู้แทนถาวรแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำอาเซียน, ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน และ Putri Alam ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และนโยบายสาธารณะ Google ประเทศอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ การประชุมได้จัดให้มีการอภิปรายเชิงนโยบายเพื่อศึกษาภูมิทัศน์และกรอบจริยธรรมด้าน AI ในภูมิภาคอาเซียน และแนวทางการขับเคลื่อนโครงการด้าน AI ในระดับชุมชน โดยมีผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย Andreas Tjendra ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม AI จาก KORIKA, ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด  ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ ศูนย์กำกับดูแล AI (AIGC) ของ ETDA, นาย Agung Pamungkas ผู้จัดการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และนโยบายสาธารณะ Google ประเทศอินโดนีเซีย, นาย Ilan Asqolani ผู้จัดการโครงการอาวุโสประจำมูลนิธิอาเซียน, นาย Rajeshpal Singh ผู้อำนวยการ Mastercard’s Digital Trust Centre of Excellence (APAC), นาย Hazremi Hamid เจ้าหน้าที่อาวุโสแผนกเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักเลขาธิการอาเซียน และ Dr. Yeni Herdiyeni หัวหน้าโครงการศึกษาด้าน AI มหาวิทยาลัย IPB โดยมี ดร. ปิติ ศรีแสงนาม และ นาย Mahmudi Yusbi หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ มูลนิธิอาเซียน เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสมท่ามกลางการเติบโตของ AI และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนให้ขยายตัวถึง 3 เท่า จากมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สู่เกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2030 ขณะเดียวกัน นโยบายภายใต้ ข้อตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Framework Agreement) คาดว่าจะช่วยเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลให้ขยายตัวขึ้นอีกเท่าตัว ดันมูลค่าแตะ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แม้จะมีแรงขับเคลื่อนดังกล่าว แต่ความพร้อมด้าน AI ในภูมิภาคยังคงมีความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะช่องว่างทางดิจิทัลที่เห็นได้ชัดจากปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีประสิทธิภาพและการขาดแคลนโครงการส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล ส่งผลให้การผลักดันภูมิภาคสู่การเป็นศูนย์กลางด้าน AI เป็นไปอย่างล่าช้า ความแตกต่างนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนจากระดับความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศสมาชิก โดยสิงคโปร์ซึ่งเป็นผู้นำของภูมิภาคได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 2 จาก 190 ประเทศในดัชนีความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ของภาครัฐปี 2567 ในขณะที่ สปป. ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการประยุกต์ใช้ AI โดยอยู่ในอันดับที่ 136 145 และ 149 ตามลำดับ

“การประชุมครั้งนี้สร้างแรงบันดาลใจและมอบแนวทางที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในกาทำให้ AI สามารถเข้าถึงชุมชนที่ขาดโอกาส โดยเฉพาะวิธีการปรับเนื้อหาและแนวคิดด้าน AI ให้เป็นบทเรียนที่เข้าใจง่ายและเหมาะสมกับผู้เรียนในท้องถิ่น ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นในการถ่ายทอดความรู้เรื่อง AI การศึกษาในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยสร้างเยาวชนให้เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบ รู้จักใช้ข้อมูลและทรัพยากรออนไลน์อย่างชาญฉลาด พร้อมทั้งมีทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญ การประชุมครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้เราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ปฏิบัติงานจากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ได้เรียนรู้แนวทางการสอนที่ประสบความสำเร็จ และร่วมกันหาทางออกสำหรับความท้าทายที่แต่ละพื้นที่กำลังเผชิญ” กล่าวโดยพันธมิตรในการดำเนินงานระดับท้องถิ่นจาก AYO Thailand.

รายงานการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งอาเซียนได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของ “นโยบายการลดช่องว่างเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดจาก AI ในภูมิภาค” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น โดยเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันทั้งในระดับภูมิภาคและภายในประเทศของตน

แนวคิดการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคนี้สอดรับกับมาตรการและข้อริเริ่มต่าง ๆ ที่ได้หารือกันในการประชุม ซึ่งมุ่งเน้นการเร่งรัดการประยุกต์ใช้และพัฒนาความรู้ด้าน AI ในประเทศสมาชิก

“จากข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ จะเห็นว่าเราจำเป็นต้องร่วมมือกันในระดับภูมิภาคเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาด้าน AI ได้อย่างทั่วถึง เมื่อประชาชนมีทักษะด้าน AI จะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน เปิดประตูสู่การเข้าถึงทักษะทางเทคโนโลยี การวิเคราะห์ข้อมูล และระบบอัตโนมัติได้มากยิ่งขึ้น เมื่อประชากรในภูมิภาคมีความพร้อมด้าน AI อาเซียนจะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน กระตุ้นการเติบโตของสตาร์ทอัพ บริษัทเทคโนโลยี และระบบนิเวศในภูมิภาค” กล่าวโดยพันธมิตรในการดำเนินงานระดับท้องถิ่นจาก AYO Thailand

 

Related Articles