จนถึงนาทีนี้ต้องยอมจำนนด้วยหลักฐานประจักษ์ชัดว่า ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง รวนจนแทบจะคาดเดาไม่ได้ โดยเฉพาะในปีนี้ที่ได้เห็นสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ผลกระทบจากภาวะโลกเดือดเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก
การรณรงค์ให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ลดปัจจัยที่ก่อภาวะเรือนกระจก เพื่อฉุดรั้งอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส อาจจะไม่เพียงพอ อีกด้านหนึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างพยายามคิดหาสารพัดวิธีเร่งบรรเทาปัญหานี้โดยด่วน
ในเมื่อแสงอาทิตย์เป็นแหล่งที่มาของความร้อนที่แผดเผาทะลุทะลวงสู่พื้นโลก ก็หาอะไรมากางกั้นเสมือนเป็นการกางร่มให้โลกเสีย ความคิดเช่นนี้ไม่ได้เพิ่งมี แต่มีมานานเป็นสิบปีแล้ว เพียงกังวลผลกระทบต่อระบบนิเวศ แต่เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยโลกใกล้แตะเส้นแดงเต็มที อย่างไรก็ต้องลองดูกันสักตั้ง
ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันตกลงใจทดลองใช้การพ่นเกลือก่อเมฆเพื่อบดบังความร้อนแรงจากแสงอาทิตย์ โดยอาศัยหลักการที่ว่า เมฆสามารถหักเหแสงได้ นั่นหมายความว่า ไม่เพียงจะกรองแสงอาทิตย์อันแผดจ้าได้ในระดับหนึ่ง ยังสามารถสะท้อนแสงกลับคืนสู่ท้องฟ้าได้อีกด้วย
วิธีดังกล่าวในทางวิชาการเรียกว่า Solar Geoengineering ซึ่งหนึ่งในวิธีการจัดการรังสีดวงอาทิตย์เพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อนคือ การฉีดพ่นละอองน้ำทะเลไปทำให้เมฆสว่างขึ้นและสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป (Marine Sky Brightening) มีหลักการทำงานเช่นเดียวกับผืนหิมะสีขาวโพลนในขั้วโลกที่ช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ในระดับหนึ่ง
เรือเดินสินค้าเป็นเหตุ
ถามว่าจุดตั้งต้นของการทดลองดังกล่าวมาจากไหน?
ในทางทฤษฎีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า ละอองลอยที่มีขนาดและความเข้มข้นที่เหมาะสมสามารถเพิ่มการสะท้อนแสงของเมฆบางประเภทได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งปรากฏการณ์นี้สังเกตได้จากภาพถ่ายดาวเทียมที่มองเห็นเมฆตามแนวเส้นทางเดินเรือสินค้าที่สว่างกว่าบริเวณอื่น บนข้อสมมติฐานที่ว่าเป็นผลจากละอองลอยของการปล่อยไอเสียเรือนั่นเอง
ที่น่าสนใจคือ หลังจากมีการออกกฎระเบียบลดการปล่อยไอเสียเพื่อลดมลภาวะในอากาศตั้งแต่ปี 2563 สิ่งที่นักสังเกตการณ์สิ่งแวดล้อมพบคือ น้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกทางตอนเหนืออุ่นขึ้นอย่างผิดปกติ
โรเบิร์ต วูด ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศ และหัวหน้านักวิจัยของโครงการ Marine Cloud Brightening (MCB) กล่าวว่า สิ่งนี้บ่งบอกถึงความน่าทึ่งของอนุภาคเล็กๆ เหล่านี้ที่สามารถเกิดขึ้นบนเมฆและการดูดกลืนแสงอาทิตย์จากโลก แต่ความจริงก็คือเรายังไม่สามารถสรุปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของละอองลอยจะมีผลกระทบเป็นวงกว้างมากเพียงใดในระดับโลก เนื่องจากการตอบสนองของเมฆต่อละอองลอยจะแตกต่างกันมากน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของเมฆและสภาพดินฟ้าอากาศ
เปิดห้องทดลองบนท้องฟ้า
ปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อเกิดคำถามว่า หากก๊าซเรือนกระจกสามารถทำให้เมฆสว่างขึ้นและสะท้อนแสงกลับสู่เบื้องบนโดยไม่ก่อมลภาวะ เหตุใดจึงไม่นำข้อดีนี้มาช่วยให้โลกเย็นลง?
สอดรับกับ Sarah Doherty ผู้อำนวยการโครงการ Marine Cloud Brightening ที่ว่า อนุภาคในชั้นบรรยากาศหรือที่เรียกว่าละอองลอยส่งผลกระทบอย่างมากต่อการสะท้อนของแสงแดดจากเมฆ เราจำเป็นต้องเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบเหล่านี้ เพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงและประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นได้ดีขึ้น และเพื่อจำกัดผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจ
โครงการ Marine Cloud Brightening จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจน เริ่มทำการทดลองตั้งแต่ 2 เมษายนที่ผ่านมา มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี โดยทีมนักวิจัยได้ติดตั้งเครื่องพ่นน้ำทะเลบนเรือ USS Hornet CV-12 ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่ปลดประจำการไปตั้งแต่ปี 1970 ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำ ณ บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก ใช้น้ำทะเลผลิตเมฆที่มีละอองเกลือขนาดเล็ก ตัวการสำคัญที่ช่วยเพิ่มอัตราการสะท้อนแสงให้กับก้อนเมฆ
ทั้งนี้ อนุภาคเกลือทะเลจากมหาสมุทรจะถูกพ่นจากเรือไปยังบริเวณเมฆที่ลอยอยู่ต่ำ ซึ่งอนุภาคเล็กๆ เหล่านั้นจะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศเพียง 2-3 วันเท่านั้น ซึ่งเพียงพอต่อการเก็บข้อมูลโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากนัก
ที่สำคัญคือ การติดตั้งห้องทดลองอยู่กลางอ่าว หากเกิดกรณีไอน้ำในก้อนเมฆจับตัวกันเป็นมวลหนาแน่นตกลงมาเป็นฝน ฝนนั้นก็ตกลงสมทบน้ำทะเล เท่ากับคืนสู่วัฏจักรของน้ำอยู่ดี…ที่เหลือก็คือ รอลุ้นผลลัพธ์ 3 ปี หลังจากนี้กัน.