“พลาสติก” ถูกทำให้เป็นตัวร้ายมานาน นับตั้งแต่กระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ในการย่อยสลายยังใช้เวลานานหลายร้อยปีอีก
ประมาณการณ์กันว่าภายในปี 2583 ทั่วโลกจะมีพลาสติกในสิ่งแวดล้อมมากถึง 1.3 พันล้านตัน!
ปัจจุบันนอกจากลดการใช้ การใช้ซ้ำ จึงมีการนำพลาสติกไปรีไซเคิลใช้ประโยชน์มากมาย ตั้งแต่ภาชนะ เสื้อผ้า ไปจนถึงรองเท้าแตะ
แต่ถ้านำไปใช้ในงานสาธารณะประโยชน์ที่ใหญ่ไปกว่านั้น ต้องยกให้ “ถนนพลาสติกรีไซเคิล” ที่กำลังเป็นที่นิยมในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย กานา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย รวมทั้งในไทยด้วย
แน่นอนว่าก่อนจะเป็นถนนให้ได้ใช้งานจริง มีโจทย์หินเรียงรายอยู่มากมายตรงหน้า ไม่เพียงประโยชน์จากการ Upcycling ยังมีทั้งในแง่ความคุ้มค่าต่อการใช้งาน และโดยเฉพาะประเด็นไมโครพลาสติก ที่ปัจจุบันพบแม้กระทั่งในสายรกและเชื้ออสุจิ
“อินเดีย” ต้นแบบถนนรีไซเคิล
อินเดียนับเป็นประเทศที่รวมความเป็นที่สุดไว้มากมาย มีประชากรมากที่สุดในโลก รวมทั้งประชากรเด็กเกิดใหม่มากที่สุดด้วย เพื่อรับมือกับขยะเหลือทิ้งจำนวนมาก เฉพาะขยะพลาสติกมีมากกว่า 3.3 ล้านตันต่อปี ศ.ราชโกปาลัน วสุเทวัน (Rajagopalan Vasudevan) ศาสตราจารย์ด้านเคมี วิทยาลัยวิศวกรรมศาสต์ Thiagarajar ในอินเดีย จึงวิจัยพัฒนาการนำพลาสติกรีไซเคิลมาเป็นส่วนผสมแทนที่ยางมะตอย 10% สร้างถนนระยะทางราว 80 กม. จากนิวเดลีไปยังเมืองเมรฐะ (Meerut) รัฐอุตตรประเทศ
ข้อดีคือ การผสมพลาสติกนอกจากช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของถนน ลดการเกิดหลุม และเพิ่มความยืดหยุ่นของพื้นผิว ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 3 ตันในทุก 1 กิโลเมตร ในแง่เศรษฐกิจยังช่วยลดต้นทุนการสร้างถนนประมาณ 670 ดอลลาร์ต่อกิโลเมตร
ศ.วสุเทวัน บอกว่า “ถนนลาดยางพลาสติกสามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกและปริมาณการจราจรที่หนาแน่นได้ และไม่ได้รับผลกระทบจากฝนหรือน้ำขัง”
หลังจากมอบสิทธิบัตรการคิดค้นพัฒนาดังกล่าวให้กับรัฐบาลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ในปี 2558 รัฐบาลอินเดียออกกฎบังคับให้ใช้ขยะพลาสติกในการสร้างถนนใกล้เมืองใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คน
ทุกวันนี้มีการสร้างถนนพลาสติกผสมยางมะตอยแล้ว 2,500 กิโลเมตรในอินเดีย แม้ถนนพลาสติกรีไซเคิลรุ่นแรกๆ จะใช้งานมาเป็น 10 ปีแล้ว ยังคงใช้งานได้ดี ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ แต่ยังต้องมีการทดสอบด้านความทนทานในระยะยาวกันต่อไป
เรื่องดีๆ ที่ใครๆ ก็อยากทำตาม
น่าสนใจว่า ปัจจุบันมีประเทศต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกานาหรือเนเธอร์แลนด์ ที่สร้างถนนและทางเดินด้วยพลาสติกเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ป้องกันไม่ให้พลาสติกไหลลงสู่มหาสมุทร ลดขยะฝังกลบ ยังช่วยปรับปรุงอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยของถนนอีกด้วย
รวมถึงมีโครงการที่มีลักษณะคล้ายๆ กันเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น บริษัทเคมีภัณฑ์ ดาว (Dow) ได้ดำเนินโครงการที่ใช้พลาสติกรีไซเคิลที่มีโพลีเอทิลีนสูง (ไม่สามารถย่อยสลายได้ในทางชีวภาพ) ในสหรัฐอเมริกาและเอเชียแปซิฟิก หรือ MacRebur บริษัทสตาร์ทอัพที่สร้างถนนพลาสติกจากสโลวาเกียไปยังแอฟริกาใต้ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ต้นแบบของถนนรีไซเคิลอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จังหวัดระยอง ระยะทาง 220 เมตร เกิดจากความร่วมมือของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว จากนั้นขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในหลายภาคส่วน
รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ยังสนับสนุนงบประมาณศึกษาวิจัยเจาะลึกในกระบวนการที่เหมาะกับบริบทของเมืองไทย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นำมาซึ่งการลงนามความร่วมมือกับกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท นำพลาสติกเหลือใช้เป็นส่วนผสมในงานก่อสร้างทาง รวมความยาวถนนทั้งสิ้น 7.7 กิโลเมตร
ความกังวลต่อไมโครพลาสติกและการปนเปื้อน
รศ.ดร.พีรพงศ์ จิตเสงี่ยม หัวหน้าคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการทดสอบในห้องทดลอง พบว่า วัสดุผสมระหว่างพลาสติกและหินร้อนยางมะตอยไม่ทำให้เกิดก๊าซพิษ (Toxic Gas) และไม่พบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในอากาศ และเมื่อทดสอบในสภาพจำลองการขัดผิวเทียบเท่ากับการใช้ถนน 7 ปี ก็ไม่พบพลาสติกหลุดปนเปื้อนในแหล่งน้ำ
ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกับถนนทั่วไปแล้ว การผสมพลาสติกในยางมะตอยให้คุณสมบัติด้านวิศวกรรมดีกว่าในทุกมิติ โดยเฉพาะความสามารถต้านทานการกัดเซาะของน้ำและความชื้นที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังสามารถนำวัสดุดังกล่าวที่ผ่านการใช้งานแล้วมารีไซเคิลเพื่อใช้งานใหม่ได้ประมาณ 10%
ปัจจุบันประเทศไทยสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกได้เพียง 18% ของขยะพลาสติกทั้งหมดกว่า 2 ล้านตัน ส่วนที่เหลือต้องฝังกลบและเผาเพื่อผลิตพลังงาน การสร้างถนน 1 กิโลเมตร ใช้ขยะพลาสติกประมาณ 300-600 กิโลกรัม จึงเป็นทางออกที่ดี ณ ขณะนี้.
สำหรับผู้ที่ชื่อชอบงานเขียนของ Rabbit2TheMoon สามารถอ่านเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าได้ ที่นี่