บริษัทพลังงานจัดการอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าที่หมดอายุขัยอย่างไร

Renewable Energy กับแนวทางวิธีในการจัดการอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าที่หมดอายุ โดยไม่ทำให้เกิดการเป็นภาระกับทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม
Share

 

หลายคนอาจเคยสงสัย ว่าบรรดาอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนหรือ Renewable Energy ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์เซลล์ หรือกังหันลมผลิตไฟฟ้าอันใหญ่โต เวลาที่หมดอายุงานแล้วไปไหน จัดการอย่างไร

 

หากพูดถึงการผลิตไฟฟ้าในบ้านเราวันนี้ หลายคนเชื่อว่าไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านถูกผลิตด้วยกระบวนการที่มีเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันตัวเลขที่กระทรวงพลังงานแจกแจงไว้ก็คือ สัดส่วนเชื้อเพลิงและพลังงานในการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย มาจากก๊าซธรรมชาติร้อยละ 60 ถ่านหินร้อยละ 22 พลังน้ำจากลาวร้อยละ 7 และพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 20

 

สำหรับตัวเลขการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 20% แม้จะดูเหมือนเป็นส่วนน้อย แต่ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการซื้อกำลังไฟฟ้าสำรองของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พบว่าใน 20% นั้นคือไฟฟ้าหลักในโครงการการผลิตเพื่อสำรองที่นับว่ามีความสำคัญไม่น้อย ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าอุปกรณ์ในการผลิตพลังงานเหล่านี้ หลังหมดอายุการใช้งานแล้ว ไปไหน อย่างไร

 

คลิปข่าวของสำนักข่าวในต่างประเทศอย่าง CBS Morning ได้มีการพูดถึงประเด็นนี้ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยในรายงานข่าวพูดถึงเรื่องภาวะของขยะเหลือทิ้งที่มาจากส่วนประกอบของอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า ทั้งที่เป็นกังหันลมผลิตไฟฟ้า และแผงโซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์เหล่านี้หลังหมดอายุใช้งาน มีจำนวนมากที่กลายเป็นขยะเหลือทิ้ง และเริ่มส่งปัญหาที่ทำให้องค์กรของบริษัทผลิตไฟฟ้า รัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงองค์กรต่างๆ เริ่มต้องเข้ามาจัดการก่อนที่จะมีปริมาณมากจนควบคุมไม่ได้

 

ทีนี้ลองมาดูกันว่า เฉพาะอุปกรณ์ผลิตพลังงานหมุนเวียนสองประเภทอย่าง กังหันลมผลิตไฟฟ้า กับ แผงโซลาร์เซลล์ หลังจากที่หมดสภาพการทำงานไปแล้ว มีการจัดการอย่างไร หรือมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ประโยชน์ได้สูงสุด

 

ให้พลังงานยั่งยืน แต่ก็มีจุดอ่อน

แม้พลังงานหมุนเวียนได้รับการยกย่องว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาดและยั่งยืนกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนก็ยังมีจุดอ่อนเรื่องของเสียอยู่ อย่างกรณีของแผงเซลล์แสงอาทิตย์และกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่หมดอายุใช้งาน ก็สร้างความกังวลได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการ

แผงโซลาร์เซลล์

ภายในแผงโซลาร์เซลล์ 1 แผงประกอบด้วยวัสดุหลายชนิด รวมทั้งแก้ว พลาสติก และโลหะ เช่น อลูมิเนียมและทองแดง แม้ว่าวัสดุเหล่านี้จะนำกลับมาผลิตใช้ใหม่ได้ได้ แต่กระบวนการนั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเพราะเรากำลังพูดถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการสลายวัสดุและแยกออกจากกันเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ได้

ปัจจุบัน มีแผงโซลาร์เซลล์เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิลเนื่องจากการขาดโครงสร้างพื้นฐานและตัวกระบวนการเองก็นับว่ามีต้นทุนที่สูงอยู่

กังหันลมผลิตไฟฟ้า

กังหันลมผลิตไฟฟ้า ก็มีปัญหาเรื่องของเสียเช่นกัน ใบพัดของกังหันลมโดยทั่วไปทำจากวัสดุผสม เช่น ไฟเบอร์กลาส ซึ่งยากต่อการนำกลับมาผลิตใหม่เนื่องจากขนาดและส่วนประกอบ ทำให้ส่วนใหญ่เมื่อใบพัดของกังหันลมหมดอายุการใช้งาน มักจะถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบซึ่งกินพื้นที่และไม่ย่อยสลายทางชีวภาพ

 

ทีนี้จะจัดการอย่างไร กับกังหันลมและแผงโซล่าร์ที่ไม่ใช้

การจัดการคงไม่ใช่การโยนทิ้งที่บ่อขยะเป็นแน่แท้ แต่จะหาวิธีการจัดการอย่างไร ที่ได้ทั้งการช่วยโลกและนำไปสู่แนวคิดใหม่ในการสร้างประโยชน์จากอุปกรณ์เหลือทิ้งเหล่านี้

Recycle

แน่นอนการนำกลับหมุนเวียนใช้ใหม่นั้นถือเป็นแนวทางที่ควรทำและเป็นการจัดการที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการนำวัสดุจำนวนมากที่ใช้ในเทคโนโลยีไปรีไซเคิลต่อ ไม่ว่าจะเป็นโลหะ พลาสติก และแก้วที่มาจากแผงโซลาร์

ปัจจุบัน กระบวนการรีไซเคิลวัสดุเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ยังมีความพยายามในการดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิล เพื่อทำให้กระบวนการนี้ประหยัดต้นทุนมากขึ้น

Repurposing

หมายถึงการนำกลับมาดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ในมุมมองใหม่ ตัวอย่างเช่น แผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งานสามารถนำมาดัดแปลงเป็นวัสดุก่อสร้าง ป้ายจราจร หรือไฟถนนได้ ในทำนองเดียวกัน ใบพัดของกังหันลมสามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างทางเดินเท้า สะพาน หรือแม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์

ตัวอย่างของหลายเมืองในสหรัฐอเมริกาคือ การนำเอาใบพัดของกังหันลมผลิตไฟฟ้าไปทำเครื่องเล่นสำหรับสนามเด็กเล่นตามเมืองเล็กๆ ที่นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะแล้ว ยังช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่นประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก แถมอายุการใช้งานก็ยาวนานเพราะใบกังหันทำจากไฟเบอร์และเส้นใยที่สามารถรองรับสภาพการใช้งานหนักได้

 

นี่เป็นเพียงทางออกเล็กๆ สำหรับการจัดการของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าแบบ Renewable Energy หากท่านผู้อ่านท่านใดมีไอเดียอื่นๆ ลองแชร์กันมาได้ เผื่อจะเป็นไอเดียใหม่ที่ช่วยให้จัดการอุปกรณ์เหล่านี้ได้อย่างสร้างสรรค์

 

ผู้อ่านที่ติดตาม ข่าวสาร บทความและความรู้ใหม่ๆ ทางด้านพลังงานใหม่และความยั่งยืน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

innomatter

innomatter

ข่าวไอที นวัตกรรม พลังงาน และความยั่งยืน

Related Articles